นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึง มุมมองทิศทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า มีความท้าทายทั้งจากเรื่องผลกระทบของโควิด-19 และการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค Disruption เศรษฐกิจจึงอยู่ภายใต้ “พายุใหญ่แห่งยุค” หรือ Perfect Storm ที่มีความรุนแรงและความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะเจอกับความท้าทายมากกว่าหลายๆ ประเทศ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อาทิ พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเข้าสู่สังคมสูงอายุ
พายุใหญ่แต่ละครั้งจะทิ้งมรดกแห่งการเปลี่ยนแปลงไว้ ในคราวนี้มองว่ามี 3 ประเด็นสำคัญ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น New Paradigm ที่เกิดขึ้น
ประเด็นแรก คือ การฟื้นตัวจะเป็นแบบ K-Shaped Recovery จะไม่ได้เป็นการกลับไปอยู่ที่จุดเดิม หรือ status quo โดย K-Shaped Recovery หมายถึงทิศทางการฟื้นตัวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มแรกที่สามารถกลับสู่จุดเดิมได้เร็ว และกลุ่มที่สองที่กลับมาได้ช้าหรือกลับมาไม่ได้ โดยในระยะสั้นเห็นได้ชัดว่าหลายกิจกรรมยังโดนจำกัดโดยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทำให้ฟื้นตัวได้ยากและยังไม่รู้จุดสิ้นสุดของมาตรการ นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเกิดเป็น New Normal ซึ่งธุรกิจที่เก็บเกี่ยวโอกาสได้ เช่น ธุรกิจ platform จะเติบโตได้ดี ขณะที่มีธุรกิจอีกจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทัน
ประเด็นที่สอง คือ แนวคิดทางนโยบายที่เปลี่ยนไปจากเดิม ธนาคารกลางและ Think Tank อย่าง IMF ออกมาบอกว่าสามารถใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยที่ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาหนี้สาธารณะตามมามีค่อนข้างน้อย และไม่ต้องรีบถอนนโยบายเหมือนในอดีต สหรัฐฯ และยุโรปจึงมีแนวโน้มจะมีการใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่เข้มข้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเบื้องต้นแนวคิดใหม่นี้ อาจทำให้ตลาดการเงินคลายความกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะ และลดโอกาสเกิดปัญหาหนี้ซ้อนปัญหาสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น แต่ก็แลกมาด้วยการสั่งสมความเปราะบางในระยะยาวที่มากกว่าเดิม
ประเด็นที่สาม คือ การจัดใหม่ของระบบทุนนิยม โดยโลกเสี่ยงที่จะแบ่งขั้ว หรือ Deglobalize ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังดำเนินต่อไป ขณะที่ระบบทุนนิยมจะโดนเรียกร้องให้ปรับตัวในหลายมิติ อาทิ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เพราะนี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของระบบทุนนิยมเดิม โดยเฉพาะการที่ Digital Disruption มักทำให้เกิด Winner และ Loser ในลักษณะ Winner takes all และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางสังคมที่ขยายกว้างขึ้น
นายผยง ศรีวณิช กล่าวในตอนท้ายว่า โลกข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ยังไม่มีใครบอกได้ว่า New paradigm ทั้งสามจะนำไปสู่รูปแบบการทำธุรกิจอย่างไร มีสูตรสำเร็จหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจต้องเดินไปข้างหน้าอย่างยืดหยุ่น และต้องกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ โดยยึดหลักที่ว่า การลองผิดลองถูกนั้นจะช่วยให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสในการหา The right solution ภายใต้ต้นทุนของการผิดพลาดที่ต่ำ เปรียบได้กับการใช้ Speed boat เพื่อความคล่องตัว และก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลง