Thursday, 2 May 2024 | 3:38 pm
spot_img
Thursday, 2 May 2024 | 3:38 pm
spot_img

‘THAIS’ ปลุกชีพเศษหนังให้เลอค่า นวัตกรรมไทยพลิกโลกเพื่ออนาคต

ในกระบวนการผลิตสินค้าเครื่องหนังสัตว์ตามโรงงานต่าง ๆ จะมีเศษหนังเหลือทิ้งเป็นขยะปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเรื่อยมา ประเด็นดังกล่าว จุดประกายให้สตาร์ทอัพไทย สร้างสรรค์นวัตกรรมปลุกชีพเศษหนังให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เบ็ดเสร็จเป็นรายแรกของโลก ก่อประโยชน์ทั้งด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ ผู้ผลิตนวัตกรรมเครื่องหนังรีไซเคิล แบรนด์ “THAIS” เล่าแรงบันดาลใจ เกิดจากชื่นชอบเครื่องหนังแฮนด์เมด จึงไปเรียนการตัดเย็บเครื่องหนัง ทำให้พบข้อมูลสำคัญว่า กระบวนการผลิตสินค้าเครื่องหนังสัตว์ ไม่ว่าจะกระเป๋า รองเท้า หรือเฟอร์นิเจอร์ วัสดุหนังที่ถูกใช้งานจริง มีเพียงประมาณ 60% เท่านั้น ส่วนเศษหนังชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องทิ้งเป็นขยะ ซึ่งยากต่อการย่อยสลายหรือทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบหรือเผาทิ้ง ล้วนก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งอุตสาหกรรมเครื่องหนังเติบโตมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้น โดยต่อปี ประเทศไทยมีขยะเศษหนังมากกว่าเนื้อที่ 12 สนามฟุตบอล ที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลก ยังไม่มีกระบวนการนำเศษหนังกลับมารีไซเคิลใช้งานได้จริง ๆ เลย

ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว เป็นที่มาของการเปิด บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ (Thais Ecoleathers) เมื่อปี 2561 ด้วยจุดยืน สร้างสรรค์นวัตกรรมปลุกชีพเศษหนังให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์

พัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ ให้ข้อมูลเสริมว่า กระบวนการรีไซเคิล เริ่มโดยรับซื้อเศษหนังจากโรงงานผลิตเครื่องหนัง ปัจจุบันรับซื้อเฉพาะเศษหนังวัว เพราะมีการใช้งานมากที่สุด โดยผู้ประกอบการยินดีจะขายให้อยู่แล้ว เพราะเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายว่าจ้างนำเศษหนังไปทำลาย ขั้นตอนต่อมา คัดแยกเกรดหนังและซักล้างทำความสะอาด ตามด้วยตากแห้งด้วยแสงอาทิตย์ สับหนังให้ละเอียด จากนั้น นำไปเข้าเครื่องจักรที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเอง รีดอัดออกมาเป็นแผ่นหนังผืนเดียวกัน ซึ่งจะเชื่อมสนิทด้วยการคล้องเกี่ยวระดับเส้นใยหนังสัตว์ ที่สำคัญ ตลอดกระบวนการ ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น นับเป็นนวัตกรรมรายแรกของโลกที่ทำสำเร็จ โดยจดสิทธิบัตรไว้แล้ว

ด้วยนวัตกรรมดังกล่าว ที่ก่อประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จึงคว้ารางวัลจากทั้งภาครัฐ และเอกชน มากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศ เทคโนโลยีสะอาด ปี 2563 จากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ รางวัล Demark จากกระทรวงพาณิชย์ รางวัล Best Start-up Award winning 2563 จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นต้น

ธันยวัฒน์ เผยด้วยว่า เบื้องต้น วางแผนทำตลาดแบบ B2B (Business-to-Business) ส่งออกแผ่นหนังรีไซเคิลให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องหนัง ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาศัยเปิดตลาดผ่านการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับอย่างดีมาก มีออเดอร์จากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง ขายได้มูลค่าสูงถึงแผ่นละ 700-1,400 บาท (ขนาด 50×55 ซม.)

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ตลาด B2B กำลังไปได้ดี แต่เมื่อโลกต้องผจญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบกับธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปเจรจาธุรกิจกับลูกค้าเป้าหมายในต่างแดนได้ อีกทั้ง ออเดอร์ที่ตกลงกันเบื้องต้นไปแล้ว ต้องถูกชะลอไปก่อน

“เดิมที่เรามุ่งตลาด B2B เป็นหลัก โควิด-19 ส่งผลกระทบ ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาด B2C (Business-to-Customer) โดยนำแผ่นหนังรีไซเคิลมาทำสินค้าต่าง ๆ เพื่อขายลูกค้าในประเทศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้า เครื่องใช้ในบ้าน เช่น วอลอาร์ต แผ่นรองจาน รองแก้ว ฯลฯ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋า สมุดโน้ต แก็ดเจ็ต ฯลฯ และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เช่น โซฟา เป็นต้น โดยเรามีทีมออกแบบของตัวเอง สินค้าแต่ละชิ้น มีจุดเด่นลวดลายและผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น สินค้าแต่ละชิ้นจึงเสมือนงานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลก” ธันยวัฒน์ กล่าว

รอยต่อการขยายตลาดจาก B2B สู่ B2C จำเป็นต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์ และใช้เงินทุนเสริมสภาพคล่อง ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้เข้ามาสนับสนุน ผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs One ช่วยให้สามารถปรับตัวทำตลาด B2C สร้างรายได้ทดแทน ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

สำหรับช่องทางตลาดในปัจจุบัน มีทั้งรับผลิตสินค้า ODM และ OEM ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมและสินค้าพรีเมียมต่าง ๆ ควบคู่กับผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ “THAIS” ของตัวเอง ขายผ่านร้านอีโคโทเปีย สยามดิสคัฟเวอรี่ และออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ www.thais-ecoleathers.com และแฟนเพจ : thais.ecoleathers เป็นต้น โดยเฉลี่ยมียอดรับซื้อเศษหนังประมาณ 1 ตันต่อเดือน และมีกำลังผลิตแปรรูปเป็นแผ่นหนังรีไซเคิลประมาณ 4 พันแผ่นต่อเดือน

แผนในอนาคตที่วางไว้ ธันยวัฒน์ บอกว่า ระยะสั้น ต้องการขยายกำลังผลิต เพื่อรองรับตลาด B2B ที่เชื่อว่า ยังมีความต้องการอีกมาก รวมถึง กำลังพัฒนารีไซเคิลเศษขยะจากวัสดุอื่น ๆ ไม่เฉพาะแค่เศษหนังเท่านั้น เพื่อให้ “ธาอีส อีโคเลทเธอร์” เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมรีไซเคิล รวมถึงเชื่อมโยงชุมชนเป็นแรงงานผลิต ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดประโยชน์ครบวงจร ส่วนแผนระยะยาว ต้องการขายลิขสิทธิ์นวัตกรรมรีไซเคิลให้แก่ประเทศที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสูง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ย่อมสร้างประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่กับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นับเป็นนวัตกรรมจากเอสเอ็มอีไทย ที่พร้อมจะก้าวไกลสร้างประโยชน์ระดับโลก

spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

ข่าวล่าสุด

บริษัท ไม่ลองไม่รู้ จำกัด เลขที่ 108/240 หมู่ที่ 2 หมู่บ้านพฤกษาวิลล์56 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210

E-Mail : anchaliphon.k@gmail.com

T. 081-666-6822

จำนวนผู้เข้าชม : 982,145

©2020-2022 www.worldbusiness-th.com