สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ฉลองครบรอบ 43 ปี จัดเสวนา “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” นำโดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ทุเรียน และผักปลอดสารพิษ (GAP) พร้อมแนะทางออกรัฐแก้ปัญหาให้ถูกจุด ลดต้นทุนการผลิต ย้ำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ คุยกันก่อนออกนโยบาย หยุดเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤต หักแขนขาเกษตรกร
ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รอบปีที่ผ่านมา ประเด็นสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเด็นถกเถียงถึงความอันตรายของสารดังกล่าว ว่าเป็นจริงหรือไม่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายด้านและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสาธารณชนในหลายด้าน ได้แก่ การตกค้างของพาราควอต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่พบการตกค้างในพืช ผัก ผลไม้ ประเด็นโรคเนื้อเน่า ได้ตรวจสอบไม่พบพาราควอต แต่พบแบคทีเรียเป็นเหตุของโรคดังกล่าว ประเด็นการพบพาราควอตในขี้เทาทารก ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในกระบวนการวิจัย เช่นเดียวกับ การพบพาราควอตในเห็ด ไม่มีบทสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้จัดทำแบบสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ ผลกระทบหลังห้ามการใช้พาราควอต พบว่า ร้อยละ 94.7 ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอต ร้อยละ 91 ไม่เห็นด้วยกับการแบนเพราะไม่มีสารทดแทนเทียบเท่าทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ ประเด็นที่น่าสนใจ ร้อยละ 25 จะเลิกประกอบอาชีพเกษตรกร หากไม่มีสารเคมีที่ใช้ทดแทนพาราควอต เหตุส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากกว่า 3 เท่า ร้อยละ 54 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 46 กระทบต่อต้นทุน 1-2 เท่า ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนเกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชประมาณ 5 ล้านราย อาจเลิกทำเกษตรกรรมสูงถึง 1.25 ล้านราย ในปีหน้า
ด้านนายพนม ชมเกษม นายกสมาคมชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า ไร่ข้าวโพดได้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดอื่นมาควบคุม แต่ไม่สามารถจัดการได้ แตกต่างจากพาราควอต แม้ว่าจะใช้ปริมาณมากขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยใช้เครื่องจักรมาร่วมด้วย แต่ก็สามารถจัดการได้เฉพาะวัชพืชที่ห่างต้น หรือระหว่างต้นเท่านั้น แต่วัชพืชใกล้โคนต้น ไม่สามารถใช้ได้ เป็นส่วนที่จัดการยากที่สุด ปัจจุบัน ต้นทุนเพิ่มสูงถึงไร่ละ 500 บาท จากเดิมใช้พาราควอต ใช้เพียงไร่ละ 100 บาทเท่านั้น
จะเลิกทำก็ไม่ได้ เพราะหนี้สินท่วมอยู่ ต้องทนทำต่อไป แบบไร้ทางออก นายสาโรช ดอกไม้ศรีจันทร์ เกษตรกรไร่อ้อย จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยตอนนี้เต็มเพดานแล้ว ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ตอนนี้เพื่อนเกษตรกรรายย่อย ทำกันเองในครอบครัว ก็เจอปัญหาหนัก ทั้งปัญหาถูกบีบราคา รัฐบาลบังคับให้ซื้อรถตัดอ้อย คันละ 5 ล้านบาท หนี้สินก็เพิ่ม ทำเกษตรวันนี้ จ่ายหนี้ หยุดทำ หนี้ก็พุ่ง เงินชดเชยจากรัฐบาลก็ไม่เพียงพอ ไม่คุ้มกับต้นทุน และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้แก้อย่างถูกจุด ควรควบคุมต้นทุนการผลิตจะดีที่สุด
นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ผู้ปลูกทุเรียนจะทราบดีว่ารากอยู่ตื้น การใช้รถจักรหรือเครื่องตัดหญ้าต้องระวังมาก เพราะจะทำลายรากทุเรียน ทำให้ต้นทุเรียนเป็นโรค รวมทั้งเครื่องจักรมีราคาสูง 2-3 แสนบาทต่อเครื่อง ส่วนกลูโฟซิเนต สารทางเลือกที่ได้รับคำแนะนำ ไม่สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะช่วงออกดอก หากฉีดพ่นจะกระทบต่อการเจริญโต ผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน ส่วนการว่าจ้างแรงงานฉีดพ่นสารเคมี ค่าใช้จ่ายลิตรละ 200 บาทต่อไร่ โดย 1 วันแรงงานทำได้แค่ 4 ไร่ต่อคน หากมีจำนวนไร่มาก เช่น 100 ไร่ ทำไม่รู้กี่วันเสร็จ แถมค่าใช้จ่ายรวมสูงถึง 20,000 บาทต่อครั้ง หากช่วงฝนตกชุกต้องฉีดเพิ่มขึ้นอีก ต่างจาการใช้พาราควอตแบบเดิมที่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี
ดร. จรรยา มณีโชติ กล่าวสรุปว่า การแบนพาราควอต ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของเกษตรกร อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 73 ซึ่งระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด” จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เจริญแล้วยังใช้กันอยู่ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ในปีหน้าเตรียมจัดตั้ง มูลนิธิเกษตรเข้มแข็ง เป็นกระบอกเสียงให้เกษตรกว่า 30 ล้านราย เพื่อดำเนินการต่อสู้ ช่วยเหลือและเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต