เอสซีจี ร่วมกับภาคีเครือข่ายชุมชน และเยาวชน ร่วมจัดกิจกรรม “ปลูกหญ้าทะเลลดโลกร้อน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดการขยะแบบคนเล” ณ ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน โครงการรักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ช่วยฟื้นฟูแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
สำหรับกิจกรรม เริ่มต้นด้วยการลงเรือไปวางทุ่นแนวเขตปลูกหญ้าทะเล สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเลตรัง และปลูกหญ้าทะเล จำนวน 4,000 ต้น ของชุมชนเครือข่ายปลูกหญ้าทะเลและโกงกางจังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งการจัดการขยะจากอำเภอทุ่งสง กลุ่มบริหารจัดการน้ำอำเภอทุ่งสง และเครือข่ายเยาวชนในจังหวัดตรัง ภายใต้การดูแล และให้คำแนะนำของเยาวชนต้นกล้าอันดามัน และมูลนิธิอันดามัน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกันและต่อยอดในเครือข่ายชุมชน และเยาวชน นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนทั่วประเทศปลูกหญ้าทะเลแล้วกว่า 30,000 ต้น ในพื้นที่ 20 ไร่
ด้าน นางสาวกัญญารัตน์ ตี่ฮ้อ กลุ่มต้นกล้าอันดามัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ตรัง กล่าวว่า “จากการศึกษาพบว่าพะยูนจะชอบกินหญ้าทะเลชนิดใบมะกูดมากกว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ แต่หญ้าใบมะกูดเป็นหญ้าที่ต้องอาศัยหญ้าชนิดอื่นนำร่องในการเติบโต ดังนั้นใครที่มาเรียนรู้ที่นี่เราก็จะให้ปลูกหญ้าทะเลชนิดแบบใบยาว ซึ่งเป็นพันธุ์พืชนำร่องก่อน”
ส่วน นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า “หลังจากที่ทางเอสซีจีได้เข้ามาสนับสนุนและร่วมจัดกิจกรรมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องนั้นเราจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเป็นอย่างมากในระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรฟื้นคืนมาที่สำคัญฝูงพะยูนมีจำนวนเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ชุมชนยังได้มีการเรียนรู้การจัดการขยะจากชุมชนมดตะนอย ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการขยะอย่างมีระบบ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดย นายสมโชค สกุลส่องบุญศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย กล่าวว่า “การสร้างความร่วมมือในการจัดการขยะ ด้วยการมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่แค่บ้านสะอาดแต่ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้นและรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีดำเนินการบนฐานข้อมูล ใช้กระบวนการ 3 (ช) เชียร์ ชวน ชม จนหมู่บ้านมดตะนอยได้รับรางวัล ทสม.ดีเด่นระดับประเทศในปีที่ผ่านมา นี่คือต้นแบบการจัดการขยะแบบชาวเลที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างแท้จริง”
เอสซีจี มุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อผนึกพลังร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ ทั้งยังช่วยฟื้นคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศ และส่งผลช่วยลดโลกร้อน พร้อมทั้งร่วมกันถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป