วันศุกร์, 4 เมษายน 2025 | 6:15 am
spot_img
วันศุกร์, 4 เมษายน 2025 | 6:15 am
spot_img

ตามรอยประวัติศาสตร์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จังหวัดตราด บทเรียนแห่งการรักษาอธิปไตย และการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นับเป็นหนึ่งในบททดสอบความอยู่รอดที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อประเทศต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมหาอำนาจตะวันตก ด้วยความที่สยามในขณะนั้นยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ทำให้เอกราชของชาติตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ประเทศชาติจึงยังคงรักษาอธิปไตยไว้ได้ แม้ต้องยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้จังหวัดจันทบุรีและตราดกลับคืนมา เป็นสัญลักษณ์แห่งความเพียรพยายามทางการทูตของบูรพกษัตริย์ไทยที่ปกป้องผืนแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานในยามที่ประเทศต้องเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม

เพื่อสืบสานบทเรียนอันทรงคุณค่านี้ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษาต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 50 นำคณะครูอาจารย์ และผู้สนใจ เดินทางสู่ดินแดนตะวันออก เพื่อตามรอยประวัติศาสตร์เรื่องเขตแดนที่มักถูกลืมเลือนไปจากตำราเรียน พร้อมทั้งศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนที่นำแนวพระราชดำริมาพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนดินและท้องทะเลแห่งตราด ด้วยความเชื่อที่ว่าความมั่นคงของชาติในองค์รวมมิใช่เพียงแค่การปกป้องดินแดน แต่ยังรวมถึงการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย

กิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการได้เดินทางไปยัง เกาะลิง บ้านบางปิดล่าง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาอธิปไตยของชาติไทย คณะผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาหมุดพรมแดนที่ฝรั่งเศสปักไว้ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามของประเทศมหาอำนาจในการแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมุดพรมแดนแห่งนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการเจรจาและการดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างชาญฉลาดของไทย ที่สามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยเหนือดินแดนไว้ได้ในยุคล่าอาณานิคม

วิทยากรได้บรรยายถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส (ปัจจุบันคือประเทศกัมพูชา) ที่ถูกกำหนดขึ้นจาก “สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907” ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการปักหมุดพรมแดนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการยืนยันสิทธิเหนือดินแดนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

คุณวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ของชาติกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องสองเรื่องที่แยกจากกัน แต่เป็นพันธกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง แผ่นดินไทยที่เรายืนอยู่วันนี้ มิใช่ผลมาจากความบังเอิญ หากแต่เป็นมรดกแห่งปณิธานและพระปรีชาสามารถของบูรพกษัตริย์ ผู้ทรงต่อสู้และปกป้องผืนแผ่นดินด้วยพลังปัญญาและการทูตอันชาญฉลาด การรักษาแผ่นดินมิได้หมายถึงเพียงการปกป้องอาณาเขตทางภูมิศาสตร์เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่เป็นรากฐานแห่งชีวิต การพัฒนาตามแนวพระราชดำริจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติในมิติที่ลึกซึ้งและยั่งยืน เราในฐานะลูกหลานของแผ่นดิน มีหน้าที่สืบสาน ปกปักรักษา และพัฒนาให้มรดกอันล้ำค่านี้คงอยู่ตราบชั่วกาลนาน ไม่เพียงเพื่อตนเอง หากแต่เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป”

นอกจากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกาะลิง คณะฯยังได้เดินทางไปยังวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่นำแนวทางศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้กิจกรรมสำคัญ อาทิ การทำผ้าย้อม 3 ป่า จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ป่าชุมชน ป่าชายเลน และป่าสมุนไพร ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในพื้นที่โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำหลัก 5R มาประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณขยะและสร้างประโยชน์จากสิ่งที่ถูกมองว่าไร้ค่า

โครงการฯ ยังนำคณะฯ เดินทางไปยังเกาะช้าง เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์การเสด็จประพาสต้นของพระมหากษัตริย์ถึง 3 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยของรัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จประพาสเกาะช้างบ่อยครั้งที่สุด อีกทั้งยังได้เข้าสักการะวัดป่าโรงถ่าน กราบนมัสการหลวงตาขาว ญาณสิริ เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างพระขาวกลางทะเลองค์ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตัก 38 เมตร สูง 43 เมตร พร้อมถวายพลอยหล่อพระพุทธปรินิพพาน จำลองจากกุสินารา ประเทศอินเดีย ฐานยาว 5.1 เมตร เพื่อเป็นการสร้างพุทธบารมีปกปักรักษาแผ่นดินไทย ชายแดนสยามภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมและการศึกษา อาทิ การมอบทุนการศึกษาและหนังสือจากโครงการ “อมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต” และกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ด้วยการปล่อยปูม้า 40 กิโลกรัมคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ

ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรม Workshop และการบรรยายเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในทุกมิติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 หรือ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030

โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี โดยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไปสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 หรือ FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้

spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

ข่าวล่าสุด

บริษัท ไม่ลองไม่รู้ จำกัด เลขที่ 108/240 หมู่ที่ 2 หมู่บ้านพฤกษาวิลล์56 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210

E-Mail : anchaliphon.k@gmail.com

T. 081-666-6822

จำนวนผู้เข้าชม : 1,196,203

[gtranslate]

©2020-2022 www.worldbusiness-th.com