
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การประกาศเพิ่มภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเกินคาดเป็นการเดินเกมเพื่อเจรจา ซึ่งกำหนดการขึ้นภาษีที่จะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. ค่อนข้างกระชั้น และไทยคงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกปี 2568 จะหดตัว -0.5% จากเดิมที่มองไว้ 2.5% ส่วนจีดีพีไทย ได้รับผลกระทบราว 1% ทำให้ประมาณการใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4% ซึ่งการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของการเจรจากับสหรัฐฯ

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า จาก Reciprocal Tariff ที่สหรัฐฯเก็บไทย 37% เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4 แสนล้านบาทในปี 2568 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าว อาจจะปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐหลังจากนี้ โดยอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อประกอบภาพกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ (MPI) เสี่ยงจะหดตัวลงกว่าเดิม หรือติดลบ 3.4% ในปี 2568 (เดิมคาดที่ติดลบ 1.0%) ขณะเดียวกัน แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้เราปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2568 ลงมาที่ 35.9 ล้านคน (เดิมคาด 37.5 ล้านคน)