
- เมษายนแนวโน้มการใช้จ่ายลดลง สวนทางกับช่วงเทศกาลที่ควรจะคึกคัก แต่ในเวลาเดียวกันคนไทยก็ยังจับจ่ายเติมสุขช่วงเทศกาล
- ความสุขคนไทย ไม่เพิ่ม แต่ไม่ลด! พยายามประคับประคองกันไป ช่วยเติมความสุขให้กันในทุกๆ วัน
กรุงเทพฯ ประเทศไทย, เมษายน 2568 – สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) เผยผลสำรวจฉบับที่สองประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 ว่า ภาพรวมสงกรานต์ปีนี้ทุกอย่างดูซอฟต์ลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายหรือการมีส่วนร่วมของคนไทยในเทศกาลสงกรานต์เช่น การออกไปสาดน้ำ ก็มีความต้องการลดลง กว่า 33% ของผู้ให้สำรวจบอกว่า ต้องการหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย เน้นอยู่อย่างสงบกับคนในครอบครัว
แนวโน้มการใช้จ่ายในเดือนเมษายนลดลง -1 เมื่อเทียบกับแนวโน้มในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (65 vs 66) แต่ถึงแม้ความต้องการในการอยากใช้จ่ายเบาลง แต่ด้วยอากาศที่ปรอทแตกในช่วงนี้ก็ทำให้หมวดของใช้ในบ้านพุ่งขึ้นว่า +3 ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวก็ยังช่วยดันยอดซื้อเสื้อผ้าและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น +2 เพราะถึงแม้คนไทยจะอยากคุมงบการใช้จ่ายมากแค่ไหนแต่คนไทยก็ยังหาเหตุผลใช้จ่ายให้ตนเองและครอบครัวเพื่อเติมความสุขได้อยู่ดี

ถึงแม้จะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่หลาย ๆ คนรอคอยแต่แนวโน้มความต้องการใช้จ่ายกลับลดลงสวนทางกับการรอคอย คุณอรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) มองเห็นความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลนี้ จึงให้คำแนะนำแก่แบรนด์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในช่วงเทศกาลไว้ 2 ข้อ ดังนี้
- การตลาดสงกรานต์เฉพาะภูมิภาค ผ่านแคมเปญ สีสันหัวใจไทย
ให้แบรนด์มีส่วนร่วมในการสร้างสีสันทั่วไทยด้วยหัวใจท้องถิ่น ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความสุขของแต่ละพื้นที่อย่างมีเอกลักษณ์ เช่น อีสาน “ม่วนหลาย สาดสุขแน่แท้” กับของแถมสายปาร์ตี้อย่างลำโพงกันน้ำ, ตะวันออก “สงกรานต์สโลว์ไลฟ์” กับชาผลไม้ท้องถิ่นสำหรับสายชิล, ภาคกลาง “สายกรีน” กับสินค้า Eco ราคาพิเศษ สงกรานต์เทศกาลเดียว หลายภูมิภาค หลายวัฒนธรรม ตามแบบฉบับของตัวเอง
- สร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ให้กับเดือนเมษายน เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของแบรนด์
การมีส่วนร่วมของแบรนด์สามารถมีได้ง่าย ๆ ด้วยการจัดแคมเปญการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาล เช่น เมษายนที่วุ่นวาย…แต่ก็วิเศษ ด้วยการชวนครอบครัวไทยอินไปกับโมเมนต์อลหม่านแต่แสนอบอุ่น ผ่านหนังสั้นหรือซีรีส์คอนเทนต์ ถ่ายทอดความรักในบ้านสุดโกลาหล พร้อมใช้สินค้าเป็นตัวเชื่อมทุกช่วงเวลาให้กลายเป็นภาษาของความห่วงใย ผ่านแคมเปญ #ครอบครัววุ่นวายแต่รักนะ แชร์เรื่อวจริงสุดวุ่นของบ้านคุณ ลุ้นรับเช็ตของขวัญ “เย็นใจรับเมษา” ให้ครอบครัวได้พักใจท่ามกลางความวุ่นวายสร้าง Emotional Bond เสริม Top of Mind และกระตุ้นยอดขายช่วงสงกรานต์อย่างอบอุ่นใจ

หากถามว่าคนไทยในแต่ละภูมิภาคมีมุมมองต่อเทศกาลสงกรานต์อย่างไร คุณรินทร์ณฐา ธารลาภ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย ได้สรุปข้อมูลจากผู้เข้าร่วมให้การสำรวจในแต่ละภูมิภาคไว้ ดังนี้
- กรุงเทพฯและปริมณฑล: สายพราว ภูมิใจในความเป็นไทย ห่วงความปลอดภัยในช่วงเทศกาล
ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหนก็จะมีแต่ความคึกคัก เทศกาลสงกรานต์เงินสะพัด นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลนี้ แต่หลายคนก็กังวลในเรื่องของการฝ่าฝูงชน รถติด รวมไปถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
- ภาคเหนือ: สายต๊ะต่อนยอน ไม่เร่งรีบ ไม่วุ่นวาย
คนภาคเหนือส่วนใหญ่จะอินกับประเพณีไทย ใช้เวลาสบาย ๆ ตามใจตัวเอง ใช้เวลาอยู่บ้านกับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตา รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขนทรายเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ตามแบบฉบับของคนล้านนา
- ภาคอีสาน: สายม่วน อินกับสงกรานต์ที่สุดในประเทศ
สาดน้ำคลายร้อน เดินทางกลับภูมิลำเนา เจอเพื่อน เจอครอบครัว เจอคนที่รัก พาครอบครัวเที่ยวสุขสันต์ ใช้ชีวิตแบบสนุกสุดเหวี่ยง สะสมพลังใจเพื่อกลับไปลุยงานต่อหลังเทศกาล
- ภาคกลาง: สายกรีน ห่วงใย ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้หลายคนกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย อีกทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเล่นน้ำ สาดน้ำ ทำให้มีความกังวลเรื่องน้ำและขยะที่จะเกิดขึ้น หลายคนจึงรู้สึกเฉยๆ กับเทศกาลนี้มากขึ้น
- ภาคตะวันออก: สายนิ่ง ไม่อินสงกรานต์
สภาพการจราจรที่หนาแน่น คนเยอะ ยิ่งเทศกาลสงกรานต์ไม่สะดวกเท่าไหร่ในการออกไปใช้ชีวิต คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับเทศกาลนี้มากนักจึงเลือกที่จะพักผ่อนอยู่บ้านมากกว่าการที่จะฝ่าฝูงชนออกไปฉลอง
- ภาคใต้: สายสงบ สงกรานต์เรียบง่ายในแบบของตัวเอง
ต้องการหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย ใช้วันหยุดยาวในแบบเรียบง่าย เที่ยวพักผ่อนฟังเสียงคลื่นทะเลให้สบายใจ หรือเพียงแค่ได้ใช้เวลากับครอบครัวก็มีความสุขในเทศกาลนี้ได้เหมือนกัน

ในภาพรวมของแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายในเดือนเมษายน 2568 นี้นั้น ลดลงเมื่อเทียบจากผลสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ 2568 -1 (65 vs 66) ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลที่ควรจะคึกคักแต่ความเป็นจริงนั้นสวนทางกัน คนภาคกลางและตะวันออกยังคงคึกคัก ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและสังสรรค์ ตรงกันข้ามกับ ภาคโต้มีแนวโน้มลดลงมากที่สุดจากความกังวลในพื้นที่ชายแดน ทำให้คนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อีกทั้งคนในช่วงอายุ 20 – 29 ปี เลือกที่จะเน้นพักผ่อนที่บ้านเพื่อประหยัดเงิน และซื้อเฉพาะของที่จำเป็น ในขณะที่ผู้คนในช่วงอายุอื่นเลือกที่จะท่องเที่ยวและรับประทานอาหารกับครอบครัวเพื่อเติมพลังกายและพลังใจ


ความสนใจของคนไทยในช่วงเวลานี้ ประชาชนยังคงจับตาและใส่ใจในเรื่องของ ความยุติธรรมและความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นในสังคม หลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย มาตราการมากมายที่ยังไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร หลายปัญหาเกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำความล่าช้าในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในช่วงปีใหม่ไทยนี้ ไม่ต้องดีขึ้นก็ได้ แต่ขอให้ไม่เกิดเรื่องร้ายๆ ไปมากกว่าเดิม