
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.07 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.07-33.77 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยน แม้ข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาส 1/68 หดตัว 0.3% ซึ่งเป็นการลดลงรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากการนําเข้าพุ่งสูงขึ้นก่อนการปรับขึ้นภาษีศุลกากรและธุรกิจต่างๆสะสมสินค้าคงคลัง ทางด้านเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจโดยส่งสัญญาณระมัดระวังมากขึ้นสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 1,492 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 7,411 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.25-4.50% หลังการประชุมวันที่ 5-6 พฤษภาคม ผู้ร่วมตลาดจะติดตามสัญญาณว่าเฟดกําลังพิจารณากลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิ.ย.หรือไม่ หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเมษายนยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าที่อยู่ในระดับสูงอาจทําให้เฟดหลีกเลี่ยงที่จะแสดงท่าทีชัดเจน และเฟดอาจเน้นย้ำว่าต้องพึ่งพาข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายการค้า ขณะที่การตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะได้รับการวิจารณ์จากประธานาธิบดีทรัมป์มากขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะลดดอกเบี้ยลง 25bps เป็น 4.25% ในวันที่ 8 พฤษภาคม ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของบีโอเจที่ช้าลงอาจถ่วงค่าเงินเยนเพียงช่วงสั้น โดยเรามองว่าหากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างญี่ปุ่นกับต่างประเทศจะแคบลงและยังคงหนุนค่าเงินเยนในกลางถึงระยะยาว
สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลกและภาคท่องเที่ยว โดยสงครามการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 68 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนยังสูงมาก ขณะที่ฉากทัศน์ที่การเจรจาการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯใกล้เคียงกับปัจจุบันอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตราว 2% เราประเมินว่าการปรับโทนอย่างมีนัยสำคัญของกนง.อาจนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 2ครั้งก่อนสิ้นปีนี้