
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จัด Workshop ร่วมกับ Moody’s Insurance ASEAN เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนามาตรฐานการกำกับ รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศและภัยพิบัติ และยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. (รัชดาภิเษก) กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.อายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ เป็นประธานเปิดการอบรม และมีพนักงานของสำนักงาน คปภ. ในส่วนภูมิภาคกว่า 30 จังหวัด เข้าร่วม
ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำ Stress test เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท Own Risk Solvency Assessment (ORSA) โดยเฉพาะในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นภาวะที่บริษัทประกันภัยทั่วโลก จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฐานะทางการเงินของบริษัท โดยที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้มีการรวมการทดสอบภาวะวิกฤตเรื่องภัยธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบ Stress Test มาตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง คือ ภัยจากแผ่นดินไหว ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ (Economic Loss) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงาน คปภ. ต้องจัดให้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดทำ Climate Stress test ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก Moody’s Insurance ASEAN ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่มีชื่อเสียง มาร่วมจัดทำ Workshop ในหัวข้อ Strengthening Climate and Catastrophe Resilience เพื่อเสริมองค์ความรู้และให้ข้อมูลเกี่ยวกับ กฎระเบียบ การรับมือ และแนวทางปฏิบัติในการประเมิน Physical Risk และ Transitional Risk โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติทั้งอุทกภัยและภัยจากแผ่นดินไหว
“การจัด Workshop ร่วมกันระหว่าง สำนักงาน คปภ. และ Moody’s Insurance ASEAN ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีสำคัญในการแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือระดับหน่วยงานในระยะยาว เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนประกันภัย ซึ่งอยู่ในจุดที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานในการคาดการณ์ความเสี่ยงให้ดีขึ้น และจะช่วยสร้างอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มีความยืดหยุ่น และแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อให้สามารถร่วมกันจัดการกับความท้าทายในอนาคต” ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ กล่าวในตอนท้าย