มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2020 ขยายตัวดีกว่าคาดที่ 4.7%YOY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก่อนการระบาดระลอกสอง โดยมูลค่าส่งออกทั้งปี 2020 หดตัวที่ -6.0%
และหากไม่รวมการส่งออกทองคำและอาวุธจะหดตัวมากถึง -8.4%
ในระยะข้างหน้า การส่งออกไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจาก 1) เศรษฐกิจโลก
ที่ชะลอตัวลงจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทั่วโลก 2) ปัญหาการขาดแคลน
ตู้คอนเทนเนอร์ 3) การแข็งค่าของเงินบาท และ 4) ความเสี่ยงต่อการส่งออกอาหารทะเล
ของไทยที่เกิดจากความกังวลด้านการระบาดของ COVID-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยจากปัจจัยดังกล่าว EIC ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 2021 เล็กน้อยจาก 4.7% เป็น 4.0%
Key points
มูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม 2020 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 4.7%YOY หลังจากหดตัว -3.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า เมื่อหักทองคำ การส่งออกขยายตัวมากขึ้นเล็กน้อยที่ 5.0%YOY โดยการส่งออกในเดือนธันวาคมเป็นการขยายตัว
ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ทั้งนี้ในปี 2020 การส่งออกในภาพรวมหดตัวที่ -6.0%YOY และเมื่อหักทองคำและการส่งกลับอาวุธไปสหรัฐฯ การส่งออกจะหดตัวสูงขึ้นเป็น -8.4%YOY
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายภาคส่วนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาหาร และถุงมือยางยังขยายตัวต่อเนื่อง (รูปที่ 1)
– การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 6.7%YOY โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญในหลายภาคส่วนมีการขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (3.2%YOY) เคมีภัณฑ์และพลาสติก (9.5%YOY) แผงวงจรไฟฟ้า (7.3%YOY) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (8.6%YOY) เป็นต้น
– การส่งออกอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงที่ 159.3%YOY เป็นผลจากการส่งกลับเครื่องบินในเดือนธันวาคม โดยตลาดหลักที่ขยายตัวสูง ประกอบด้วย อินโดนีเซีย (51,169.7%YOY) ฟิลิปปินส์ (9,686.6%YOY) และเยอรมนี (948.6%YOY) โดยการเติบโตของสินค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 0.4 ppt.
จากแหล่งที่มาของอัตราการเติบโต (contribution to growth) ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในเดือนธันวาคม 2020
– การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 10.7%YOY หลังจากขยายตัว 6.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา (30.0%YOY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (63.6%YOY) และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (9.1%YOY)
– สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันสุขภาพมีการขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง (25.7%YOY) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (8.4%YOY) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ (10.2%YOY) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (15.5%YOY) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ (33.9%YOY) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ (18.3%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (15.7%YOY) โดยถุงมือยางขยายตัว
เร่งขึ้นที่ 220.3%YOY
– อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ -7.5%YOY หลังจากหดตัว -12.2%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องดื่ม (-11.5%YOY) และน้ำตาลทราย
(-75.4%YOY)
– การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ -16.6%YOY โดยตลาดหลักที่หดตัว ได้แก่ สิงคโปร์ (-32.2%YOY) มาเลเซีย (-24.3%YOY) และจีน (-47.7%YOY)
รูปที่ 1 : การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายภาคส่วนปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ในขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาหาร และการป้องกันขยายตัวต่อเนื่อง
รูปที่ 2 : สินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกในเดือนธันวาคม 2020
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปหลายตลาดสำคัญขยายตัว อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน 5 อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 และ CLMV ยังคงหดตัว
– การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ 15.7%YOY หลังจากขยายตัว 15.4%YOY
ในเดือนพฤศจิกายน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (12.7%YOY) ผลิตภัณฑ์ยาง (13.8%YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (55.0%YOY)
– การส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือนที่ 7.2%YOY หลังจากหดตัวที่ -8.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (33.5%YOY) ผลไม้สด
แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (29.4%YOY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (124.5%YOY) และเคมีภัณฑ์ (48.0%YOY)
– การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 พลิกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8%YOY หลังจากหดตัว -15.0%YOY
ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่ขยายตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (71.0%YOY) แผงวงจรไฟฟ้า (11.1%YOY) และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ (378.5%YOY) เป็นต้น
– การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 14.8%YOY หลังจากขยายตัว 5.4%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ประกอบด้วย รถยนต์และส่วนประกอบ (91.5%YOY) เคมีภัณฑ์ (87.9%YOY) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (24.5%YOY)
– การส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัวชะลอลงที่ 15.3%YOY หลังจากขยายตัวสูงถึง 24.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า สินค้าหลักที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (17.7%YOY) อัญมณีและเครื่องประดับ (217.6%YOY) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (31.9%YOY)
– การส่งออกไปตลาดอินเดียขยายตัวที่ 14.5%YOY หลังจากหดตัว -1.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (24.3%YOY) และเคมีภัณฑ์ (35.3%YOY)
– อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 หดตัวต่อเนื่องที่ -2.4%YOY หลังจากหดตัว -8.5%YOY ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ (-28.3%YOY) อัญมณีและเครื่องประดับ (-30.2%YOY) และไก่แปรรูป (-21.9%YOY)
– การส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ -6.3%YOY หลังจากหดตัว -13.0%YOY
ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่หดตัว ประกอบด้วย น้ำมันสำเร็จรูป (-1.6%YOY) และเครื่องดื่ม
(-16.3%YOY)
ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนธันวาคมขยายตัวที่ 3.6%YOY หลังจากหดตัว -0.1%YOY ในเดือนพฤศจิกายน โดยการนำเข้าสินค้าในเกือบทุกหมวดกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ สินค้าทุน (8.9%YOY) สินค้าอุปโภคบริโภค (2.1%YOY) ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (6.4%YOY) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (11.2%YOY) อย่างไรก็ดี การนำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงยังหดตัวที่ -17.3%YOY สำหรับมูลค่าการนำเข้าในปี 2020 หดตัวที่ -12.4%YOY ทั้งนี้ดุลการค้าในเดือนธันวาคมเกินดุลที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2020 ดุลการค้าเกินดุล 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Implication
มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2020 ขยายตัวดีกว่าคาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เป็นต้นมา ซึ่งการกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกของหลายประเทศสำคัญ (รูปที่ 3) สะท้อนการฟื้นตัวของภาวะการค้าโลกก่อนที่จะมีการกลับมาระบาดระลอกสองในหลายประเทศคู่ค้าหลักรวมถึงในไทยเองด้วย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยล้วนกลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (3.2%YOY) อิเล็กทรอนิกส์ (15.9%YOY) เคมีภัณฑ์และพลาสติก (9.5%YOY%) ดังนั้น จึงทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2020 หดตัวน้อยกว่าคาดที่ -6.0% (เทียบกับที่เคยคาดไว้ที่ -8.0%)
รูปที่ 3 : การส่งออกไทยและประเทศส่งออกสำคัญในปี 2020 มีการฟื้นตัวต่อเนื่องหลังผ่านจุดต่ำสุด
การส่งออกไทยปี 2020 ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทั้งปีหดตัวถึง -6.0% และหากไม่รวมการส่งออกทองคำและอาวุธ การส่งออกจะหดตัวมากถึง -8.4% โดยการระบาดของ COVID-19 เมื่อต้นปี 2020 ทำให้หลายประเทศต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020
ที่หลายประเทศใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ทำให้การค้าโลกหยุดชะงัก และเกิดปัญหา supply chain disruption จึงทำให้การส่งออกในช่วงไตรมาส 2 หดตัวลึกถึง -15.2%YOY อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศต่าง ๆ มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง การส่งออกของไทยจึงเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ในปีที่ผ่านมาคือสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการทำงานที่บ้าน (work from home) และสุขอนามัย ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (2.3%) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (2.5%) ถุงมือยาง (94.9%) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (3.4%) ขณะที่สินค้าที่มีการหดตัวมาก คือสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ (-22.2%) สิ่งทอ (-16.8%) และอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทอง (-39.9%)
การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยในระยะสั้น (รูปที่ 4) โดยการระบาดอีกระลอกจะทำให้อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงในระยะสั้น ก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2021 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่า ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าก็จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยจากการระบาดของ COVID-19 ในจังหวัดสมุทรสาครที่ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสินค้าอาหารทะเลของไทย และยังมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงานประมงจากการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ดังนั้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกไทยปี 2021 ลงเล็กน้อยเป็น 4.0% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.7%
รูปที่ 4 : ปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวช้ากว่าคาด ของการส่งออกไทยโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี
ในส่วนของความคืบหน้าการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Antidumping duty: AD) กับยางล้อไทย พบว่า ยางรถยนต์ไทยที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดที่อัตรา 13.25 – 22.21% ซึ่งนับเป็นต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผู้ส่งออกยางรถยนต์ไทย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการส่งออกยางล้อไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ โดยผู้ส่งออกเกาหลีใต้ และไต้หวัน
มีแนวโน้มถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดที่อัตรา 14.24 – 38.07% และ 52.42 – 98.44% ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้ส่งออกเวียดนามยังอาจถูกเรียกเก็บภาษี ทั้งภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดในอัตรา 0.00 – 22.30% และภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (Countervailing Duty: CVD) ในอัตรา 6.23 – 10.08% อีกด้วย ทั้งนี้ยังต้องติดตามผลการไต่สวนการทุ่มตลาดชั้นที่สุด (Final Determination) ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงกลางปีนี้ โดยระหว่างนี้ ผู้ส่งออกยางรถยนต์ไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บอากรชั่วคราว
บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/7343
ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
พนันดร อรุณีนิรมาน ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
พิมพ์ชนก โฮว ตำแหน่ง นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line : @scbeic