การทำประกันชีวิตสามารถมองในมุมมองของการเป็นเครื่องมือทางการเงิน (financial instruments) ในตลาดการเงินได้เช่นกัน ดังนั้น เหตุผลในการทำประกันชีวิตข้อที่ 2 คือ
2.เป็นเครื่องมือทางการเงินระยะยาวที่หาไม่ได้จากการลงทุนชนิดอื่น โดยทั่วไปแล้วความหมายของการออมจะแตกต่างกับการลงทุน โดยการออมคือการสะสมเงินที่หามาได้เพื่อเอาไว้ใช้ในยามที่เราต้องการ หรือในเวลาฉุกเฉิน ส่วนการลงทุน คือ การนำเงินที่เรามีอยู่เป็นทุนไปทำให้เงินนั้นงอกเงยเพิ่มมากขึ้นซึ่งการลงทุนก็มีความเสี่ยง (risk) ที่สามารถทำให้ขาดทุนและสูญเสียเงินต้นไปได้
และถึงแม้ว่าการออมจะเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิต แต่การทำประกันชีวิตนั้นมีมากไปกว่า “การออม” เนื่องจากเราสามารถมองว่าการทำประกันชีวิตนั้นเป็นเครื่องมือทางการเงินอีกชนิดหนึ่งในตลาดการเงินที่ทำหน้าที่ไม่แพ้การลงทุนชนิดอื่นเลยทีเดียว
สิ่งที่แบบประกันชีวิตทำได้มากกว่าการลงทุนชนิดอื่น ๆ คือ “การจัดการความเสี่ยงในระยะยาว” ภายใต้กรอบการลงทุนที่เหมาะสม
บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีแบบประกันที่ให้เลือกความคุ้มครองไปจนถึงเกษียณอายุ หรือ ตลอดชีวิต ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ลงทุนในระยะยาว อีกทั้งผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในสัญญาก็แบ่งออกเป็นประเภทที่การันตี และประเภทที่ไม่การันตี ที่แอ็กชัวรี่จะต้องตั้งเงินสำรองกรมธรรม์เพื่อให้บริษัทมีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายคืนผลประโยชน์ในอนาคตตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งก็เป็นสิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าจะได้รับผลประโยชน์คืนกลับมาอย่างแน่นอน
แบบประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (endowment) ส่วนใหญ่นั้นสามารถออกแบบให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในเงินปันผล (participating) ได้ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นตามหลักการแล้วเงินที่ได้จากแบบประกันที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล (participating) นั้นสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าแบบประกันที่ไม่มีส่วนร่วมในเงินปันผล (nonparticipating) และด้วยเหตุนี้เงินปันผลของลูกค้า (policyholder dividend) จึงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท (ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่บริษัทจัดสรรไว้ลงทุนให้สำหรับแบบประกันนั้น ๆ) และทำให้บริษัทไม่สามารถการันตีเงินปันผล (policyholder dividend) ตัวนี้ได้
แบบประกันยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (universal life) นั้นสามารถมองว่าเป็นเครื่องมือการออมระยะยาวที่บริษัทได้ทำการจัดการความเสี่ยงไว้ให้เป็นอย่างดี ส่วนแบบประกันควบการลงทุน (unit linked) นั้นยังสามารถให้อิสระกับลูกค้าในการเลือกลงทุนในกองทุนที่ตนเองต้องการได้อีกด้วย
ตัวอย่างที่ผมได้เจออยู่บ่อย ๆ เมื่อครั้งที่ทำงานอยู่ที่ฮ่องกงก็คือเมื่อใดก็ตามที่ผมไปเปิดบัญชี หรือทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของธนาคารนั้นบางครั้งจะช่วยให้คำแนะนำในการจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสม เช่น ถ้าผมถือเงินสดในบัญชีออมทรัพย์อยู่มากไปเขาจะแนะนำให้เปิดบัญชีการลงทุนกับเขาอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งหลักความคิดของเขามีอยู่ว่าหากต้องการลงทุนในระยะสั้นนั้นก็ควรจะถือพันธบัตร แต่หากต้องการการลงทุนระยะกลางก็ควรจะถือหุ้นแทนซึ่งคนในฮ่องกงส่วนใหญ่ก็จะมีกัน แต่เจ้าหน้าที่มักจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดการจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาวจึงควรซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไปจนกว่าจะเกษียณ หรือ คุ้มครองไปตลอดชีวิต
ดังนั้นหากมองในแง่ของการลงทุนถือได้ว่าการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้อีกทางหนึ่ง
และหลังจากที่ได้ทราบถึงเหตุผลที่สำคัญในการทำการประกันชีวิตไม่ว่าจะเป็นมุมมองของ “การออม” หรือ “เครื่องมือทางการเงินระยะยาว” ไปแล้วก็ตาม จะเห็นว่าความสำคัญของการทำประกันชีวิตก็ยังไม่ได้มีเพียงแค่นี้ เพราะยังมีผลประโยชน์อีกหลายอย่างจากการทำประกันชีวิตที่บางคนอาจจะมองข้ามไป
นอกจากเหตุผล 2 ข้อดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากในการที่คนเราควรจะซื้อประกันชีวิตเอาไว้
3.เป็นการให้ความคุ้มครองเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องเวลาและบรรเทาความสูญเสียทางการเงิน (financial loss) ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าหากผู้นำหาเลี้ยงครอบครัวต้องเสียชีวิตจากไปก่อนเวลาอันควรแต่ภาระต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ เช่น ภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายของครอบครัว ค่าเล่าเรียนของลูก ซึ่งภาระต่าง ๆ เหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบให้กับคนข้างหลัง หรือถ้าผู้นำธุรกิจต้องเสียชีวิตจากไปก่อนเวลาอันควรภาระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมก็ยังไม่หมดไป ภาระหนี้สินเหล่านี้จะมีใครเป็นผู้รับผิดชอบหากไม่มีการทำประกันชีวิตเอาไว้