นายคาคุฮิโร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงกันของสุขภาพช่องปากและความพิการในประชากรผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าจำนวนฟันที่น้อยลง ส่งผลต่อความสามารถในการเคี้ยวและความเปราะบางของช่องปาก โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง รวมทั้งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 มากกว่าเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีฟันมากกว่า 20 ซี่ อีกด้วย
จากการเห็นความสำคัญของสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุ กระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการสังคม กับสมาคมทันตกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นได้จัดกิจกรรม “8020” รณรงค์ให้ประชาชนในกลุ่มผู้สุงอายุในวัย 80 ปี ดูแลและรักษาฟันไว้ให้ได้ 20 ซี่ขึ้นไป โดยจากการเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน มีผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มีฟันเหลือ 20 ซี่ คิดเป็น 50% โดยในปี 2565 มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเป็น 60%
นอกจากนี้ มีมุมมองของภาคเอกชนไทยอีกหนึ่งองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีการดำเนินธุรกิจที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ด้านตัวแทนจากบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด นางวรรณา ธรรมร่มดี ผู้จัดการบริหารสำนักกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาบริษัทฯให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาวะช่องปากที่ดีของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่มเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีปัญหาสุขภาวะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์โคโดโมสำหรับเด็ก แบรนด์ซิสเท็มมาและซอลส์สำหรับวัยผู้ใหญ่ และแบรนด์กู๊ดเอจสำหรับผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการจัดโครงการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ที่ดำเนินการต่อเนื่องในหลายจังหวัดทั่วประเทศ นับเป็นแนวทางเดียวกันกับบริษัทไลอ้อนในประเทศญี่ปุ่น ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกช่วงวัย ได้มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง นำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีต่อไป”
นับเป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจ สำหรับการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งการดูแลสุขภาวะของช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ หากปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยก็จะมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว