มูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หดตัวที่ -2.6%YOY แต่หากหักทองคำ การส่งออก
จะขยายตัวที่ 4.0%YOY สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ดีของภาคการส่งออก โดยเป็นการฟื้นตัว
อย่างทั่วถึงและกระจายตัวในหลายสินค้า (broad-based) ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนสินค้าที่กลับมาขยายตัวในช่วงหลัง (สัดส่วนสินค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยช่วงเดือน ธ.ค. 20 – ก.พ. 21 มีสูงถึง 65.5%) มีมากกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกฟื้นกลับมาสูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดแล้ว ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป
ในระยะต่อไป EIC คาด การส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ นอกจากนี้การส่งออกไทยยังอาจได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และความไม่สงบในเมียนมา
Key points
มูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หดตัวที่ -2.6%YOY แต่หากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวที่ 4.0%YOY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2021 มูลค่าการส่งออกภาพรวมหดตัวเล็กน้อยที่ -1.2%YOY แต่หากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะขยายตัวได้ดีถึง 5.1%YOY
ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าสินค้าส่งออกของไทยมีการฟื้นตัวในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์และพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
• การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 18.0%YOY หลังจากขยายตัว 9.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (46.6%YOY), ยางพารา (22.8%YOY) และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (116.6%YOY) อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวไทยยังหดตัวที่ -4.9%YOY แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึง -15.9%YOY
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 4.1%YOY โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญมีการขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (3.6%YOY), เครื่องใช้ไฟฟ้า (12.3%YOY), เคมีภัณฑ์และพลาสติก (21.4%YOY), เหล็กและผลิตภัณฑ์ (7.6%YOY), เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (12.7%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (9.5%YOY)
• สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน (work from home) รวมถึงสินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัยมีการขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง (20.7%YOY), ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (15.5%YOY), เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (20.2%YOY), เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ (4.0%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (24.8%YOY) โดยถุงมือยางขยายตัวสูงที่ 214.8%YOY
• อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ -4.8%YOY หลังจากหดตัว -3.2%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-9.6%YOY) โดยการส่งออกทูน่ากระป๋องหดตัวถึง -20.3%YOY เครื่องดื่ม (-9.4%YOY) และน้ำตาลทราย (-35.5%YOY)
• การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวที่ -5.4%YOY ดีขึ้นจากเดือนมกราคมที่หดตัว -26.0%YOY โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้นทั่วโลก (Brent crude oil เดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 12.7%YOY) ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักที่หดตัว ได้แก่ มาเลเซีย (-7.9%YOY), สิงคโปร์ (-61.0%YOY), ลาว (-15.9%YOY) และเมียนมา (-13.8%YOY)
• การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ -93.0%YOY โดยตลาดหลักที่หดตัว อาทิ สิงคโปร์ (-87.4%YOY), ออสเตรเลีย (-51.1%YOY) และฮ่องกง (-99.6%YOY)
รูปที่ 1 : สินค้าส่งออกของไทยมีการฟื้นตัวในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์และพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
รูปที่ 2 : สินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกในเดือน ก.พ. 2021
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกไปยุโรปเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การส่งออกไปอาเซียน 5 และ CLMV กลับหดตัว
• การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 19.7%YOY หลังจากขยายตัว 12.4%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (5.5%YOY), ผลิตภัณฑ์ยาง (34.5%YOY), รถยนต์และส่วนประกอบ (40.1%YOY) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (100.7%YOY)
• การส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15.7%YOY เร่งตัวขึ้นจากเดือนมกราคมที่ขยายตัว 9.9%YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (8.5%YOY), ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (178.0%YOY), ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (82.5%YOY) และเม็ดพลาสติก (65.6%YOY)
• การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 6.5%YOY ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคมที่ 7.4%YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ประกอบด้วย รถยนต์และส่วนประกอบ (71.0%YOY), เคมีภัณฑ์ (29.9%YOY), เหล็กและผลิตภัณฑ์ (44.7%YOY) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (13.5%YOY)
• การส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัวที่ 17.2%YOY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยสินค้าหลักที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (21.7%YOY), เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (27.2%YOY),และผลิตภัณฑ์ยาง (44.7%YOY)
• การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 พลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 12 เดือนที่ 0.2%YOY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (46.5%YOY), ผลิตภัณฑ์ยาง (77.9%YOY) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (11.8%YOY) • อย่างไรก็ดี การส่งออกไป CLMV พลิกกลับมาหดตัวที่ -4.2%YOY หลังจากขยายตัว 3.8%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยมาจากการหดตัวของการส่งออกไปเมียนมาและกัมพูชาที่ -29.5%YOY และ -10.6%YOY ตามลำดับ สินค้าสำคัญที่หดตัวในตลาด CLMV อาทิ เครื่องดื่ม (-15.8%YOY), เคมีภัณฑ์ (-2.6%YOY) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-13.1%YOY)
• การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -17.3%YOY หลังจากหดตัว -11.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่หดตัว ประกอบด้วย น้ำมันสำเร็จรูป (-20.8%YOY) และเคมีภัณฑ์ (-16.2%YOY)
ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ขยายตัวสูงที่ 22.0%YOY หลังจากหดตัว -5.2%YOY ในเดือนมกราคม โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าทุน (21.0%YOY), สินค้าอุปโภคบริโภค (20.7%YOY), ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (26.5%YOY) และสินค้าเชื้อเพลิง (10.6%YOY) ในส่วนของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเช่นกันที่ 41.9%YOY แต่หากหักทองคำจะเหลือขยายตัวที่ 28.8%YOY แต่ก็ยังนับเป็นการขยายตัวที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งของการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปผลิตสินค้าส่งออก จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 6.8%YOY และดุลการค้าขาดดุลที่ 195.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Implication
การส่งออกหักทองคำขยายตัวถึง 4.0% สะท้อนการฟื้นตัวดีของภาคส่งออก สอดคล้องกับที่ EIC ได้เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนก่อนว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว จึงทำให้ EIC มีการปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2021 เป็น 6.4% ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยจากรูปที่ 3 (ซ้าย) จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกหักทองกลับมามีระดับที่สูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 แล้ว สะท้อนการฟื้นตัวที่เร็ว นอกจากนี้ หากพิจารณาในรูปขวา จะพบว่าการส่งออกมีการฟื้นตัวอย่างทั่วถึงในหลายสินค้า (broad-based) สะท้อนจากสัดส่วนสินค้าที่กลับมาขยายตัวในช่วงหลัง (สัดส่วนสินค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยช่วงเดือน ธ.ค. 20 – ก.พ. 21 มีสูงถึง 65.5%) ที่มีมากกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างชัดเจน
โดยสินค้าสำคัญที่ฟื้นตัวกลับมามีระดับสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดแล้ว ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป
รูปที่ 3 : การส่งออกฟื้นตัวได้ดี และเป็นการฟื้นตัวแบบทั่วถึงในหลายสินค้า (Broad-based)
ในระยะต่อไป EIC คาด การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และยังอาจได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีแนวโน้มได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunnity) ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการขนาดใหญ่กว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity prices) หลายประเภทที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็จะเป็น
อีกปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทย ผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าเกษตร (เช่น น้ำตาล, ยางพารา และข้าว) น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เป็นต้น (รูปที่ 4)
รูปที่ 4 : ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทที่ปรับเพิ่มขึ้น จะเป็นผลดีต่อราคาสินค้าส่งออกสำคัญ
ของไทย เช่น สินค้าเกษตร น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ประกอบด้วย
1) ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง แม้ล่าสุดปัญหาการขาดแคลน ตู้คอนเทนเนอร์เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว และอัตราค่าระวางเรือเริ่มปรับลดลงในช่วงเดือนมีนาคม 2021 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นต้นทุนต่อผู้ส่งออกไทย โดยคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ก่อนจะปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี (รูปที่ 5)
รูปที่ 5 : สถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลายลงบ้าง แต่อัตราค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง
2) การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก ทำให้หลายโรงงานสำคัญต้องหยุดการผลิต ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้การผลิตชิปไม่สามารถทำได้ทัน นอกจากนี้ ภัยแล้งที่รุนแรงในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในไต้หวันซึ่งเป็นประเทศหลักที่มีการผลิตชิปป้อนตลาดโลก ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการขาดแคลนชิป เนื่องจากโรงงานต้องลดการใช้น้ำลงอย่างมาก การผลิตชิปจึงไม่สามารถทำได้เต็มศักยภาพ โดยล่าสุด ผลกระทบได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เช่น การประกาศเตือนของ Samsung ว่าไม่สามารถผลิตชิปได้ทัน และความล่าช้าในการผลิต iPhone12 และ PlayStation 5 นอกจากนี้ การขาดแคลนชิปยังจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลก เนื่องจากรถยนต์ในปัจจุบันต้องใช้ชิปในหลายอุปกรณ์ ทั้งนี้ในเบื้องต้น หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่าปัญหาการขาดแคลนชิปจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้
3) ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเมียนมาหยุดชะงัก การส่งออกไทยไปเมียนมาจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยล่าสุด การส่งออกไปเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หดตัวถึง -29.5%YOY ซึ่งสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และเหล็ก
บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/7484
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : พนันดร อรุณีนิรมาน (panundorn.aruneeniramarn@scb.co.th)
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
พิมพ์ชนก โฮว (phimchanok.hou@scb.co.th)
นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com