กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลการจัดเจรจาธุรกิจขายสินค้าออนไลน์กลุ่มอาหารและข้าวตลาดแอฟริกา ประสบความสำเร็จเกินคาด ตกลงซื้อขายได้กว่า 31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉียด 1 พันล้านบาท เตรียมลุยต่อสินค้าอาหารทะล มั่นใจยอดกระฉูดอีก
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ได้จัดการเจรจาการค้าออนไลน์ตามที่กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สคต.พริทอเรีย ได้จัดการเจรจาการค้าออนไลน์สินค้าอาหาร และข้าว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถตกลงซื้อขายได้มูลค่ากว่า 31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 960 ล้านบาท
สำหรับผลการเจรจาในกลุ่มสินค้าอาหาร สคต.พริทอเรีย ได้เชิญผู้นำเข้า 4 รายจากประเทศโมซัมบิก มอริเชียส และแอฟริกาใต้ มาเจรจาซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยบริษัท COGEF Group กลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือดูไบในโมซัมบิกและในประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา ที่รู้จักกันดีในนาม Jumbo Hyper Market เป็นผู้นำเข้าหลักที่จะมีคำสั่งซื้อสูง 5 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยกลุ่มเกาหลีในแอฟริกาใต้ Wemaco เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต Kokoro สั่งซื้ออาหารครั้งนี้อีก 50,000 เหรียญสหรัฐ
ส่วนสินค้าข้าว มีผลการเจรจาออนไลน์ 5 บริษัท 3 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ มอริเชียส และโมซัมบิก เฉลี่ยประมาณ 26 ล้านเหรียญ ดังนี้ 1.COGEF Groupโมซัมบิก จะสั่งซื้อข้าวเก่า 5% และหอมมะลิ มูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับเจรจาราคาถ้าตกลงกันได้ 2.Century Trading มอริเชียส ขอดูราคาก่อน 3.STI Investment แอฟริกาใต้ ขอสำรวจราคา 4.WEMACO แอฟริกาใต้ จะสั่งซื้อข้าวมูลค่า 25,000 เหรียญสหรัฐ และ 5.Monteagle แอฟริกาใต้ จะนำเข้าข้าวนึ่ง และหอมมะลิ ปริมาณ 300 ตัน/เดือน
นายอภิรักษ์ แพพ่วง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ กล่าวว่า สำนักงานฯ ได้ดำเนินการจัดเจรจาการค้าออนไลน์ในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ซึ่งนอกจากจะมี 2 กลุ่มที่เคยซื้อสินค้าอาหารและข้าวแล้ว ยังจะมี Hyper Market รายใหญ่ของแอฟริกาใต้ Food Lovers เข้าร่วมด้วย โดยมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน เนื่องจากสินค้าอาหารทะเลของไทย เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในตลาดแอฟริกาใต้เป็นอย่างดีโดยจะติดตามผลการเจรจาอีกครั้ง
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้ในช่วง 4 เดือนของปี 2563 (มกราคม-เมษายน) มีมูลค่าการค้ารวม 874.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21.27% เป็นการส่งออกมูลค่า 703.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21.64% และนำเข้ามูลค่า 170.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.67%
โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรกไปแอฟริกาใต้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เคมีภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก และของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ และสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ยุทธปัจจัย เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169