หัวใจสำคัญของการเจริญเติบโต ความมั่นคง ตลอดจนขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดของทุกประเภทธุรกิจคือการมีกำลังทุนในการบริหารจัดการเพื่อการยกระดับทุกองคาพยพให้เกิดสภาพคล่องในการทำงาน สร้างมาตรฐานและมูลค่าให้กับธุรกิจ ซึ่งนั่นเป็นสมรรถนะที่เราเห็นได้ทั่วไปจากธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งโลดแล่นอยู่ในสังเวียนตลาดทุนอย่างน่าจับตามอง ซึ่งนักลงทุนเล็งเห็นถึงศักยภาพที่จะได้รับผลกำไรที่งอกงาม แต่หากสำรวจลึกลงไปถึงกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และ Startups ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 99.5 ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีบทบาทในการจ้างงานราวร้อยละ 70 นับเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจแต่กลับประสบปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งทุนที่จะช่วยขยายศักยภาพทางธุรกิจได้ กุญแจสำคัญที่จะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสของธุรกิจ SMEs และ Startups ให้มีความพร้อมต่อการก้าวสู่ตลาดทุนอย่างเข้มแข็ง และสามารถจูงใจนักลงทุนได้นั้น นอกจากสินค้า บริการอันเกิดจากไอเดียที่มีอนาคตน่าจับตามองแล้ว คือการมีองค์ความรู้และระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ซึ่งยังต้องอาศัยทุนทรัพย์ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะมีแรงขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดทุน จะด้วยกำลังทรัพย์หรือองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอ หรือขาดที่ปรึกษาที่พร้อมให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญก็ดี จึงเป็นเหตุให้หลาย ๆ SMEs และ Startups ทรงตัวอยู่ในสภาพ “บริษัทเล็ก ๆ”
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสการเติบโตของ SMEs และ Startups ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงได้มีแผนพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สาม ในนาม “LiVE Exchange” ซึ่งเป็นตลาดใหม่นอกจาก SET และ mai โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดรองรับการระดมทุนจากสาธารณะเพื่อ SMEs และ Startups โดยเฉพาะ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงร่วมกันสร้าง Springboard ให้ SMEs และ Startups สามารถก้าวกระโดดสู่ตลาดทุนได้ง่าย โดยการพัฒนาหลักสูตร EMBRYO Incubation Program สำหรับฝึกอบรมผู้ประกอบการเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนสู่การเติบโตทางธุรกิจ อย่างมีองค์ความรู้ที่สมบูรณ์
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในพันธมิตรของโครงการเล่าถึงความเป็นมาของการเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโครงการหลักสูตร EMBRYO Incubation Program ในฐานะผู้ให้บริการด้านวิชาการ ซึ่งต้องสวมบท “พี่เลี้ยง” ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมในหลักสูตร EMBRYO Incubation Program ว่า หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความคิดริเริ่มอยากเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สาม (LiVE Exchane) ซึ่งเป็นตลาดทุนเพื่อ SMEs และ Startups ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกับหอการค้าไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เป็นองค์กรเก่าแก่และมีเครือข่ายธุรกิจทั้งในภาคการค้า งานบริการ โดยถือว่าเป็นศูนย์รวมกลุ่มเป้าหมายของโครงการไว้อย่างหนาแน่นที่สุด ดังนั้นเมื่อหอการค้าไทย เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ธุรกิจ SMEs และ Startups ในการผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าสู่ตลาดทุน จึงกลายมาเป็นบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใต้ชายคาของหอการค้าไทย ที่จะเข้ามาเป็นเทรนเนอร์ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยทรัพยากรด้านเครื่องมือสนับสนุน บุคลากร คณาจารย์ที่มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ งานวิจัย และความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการบริหารธุรกิจ ซึ่งโดยทั่วไป การที่ธุรกิจจะเข้าสู่ตลาดทุนได้ สิ่งสำคัญคือเงินทุนในการบริหารจัดการ การจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) เพื่อให้คำแนะนำการวางแผนระบบการเงิน บัญชี การตรวจสอบเพื่อแสดงความโปร่งใสสู่สายตานักลงทุน ซึ่งถือเป็นต้นทุนการใช้จ่ายที่สูงมาก ในขณะที่ธุรกิจที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาด LiVE Exchange อย่าง SMEs และ Startups อาจเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือมีขนาดเล็กและเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน การมีองค์กรที่ปรึกษาซึ่งพร้อมให้คำแนะนำเพื่อธุรกิจ การวางแผนนโยบายทางการเงินและบัญชี โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก จึงถือเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์และจะส่งผลให้ธุรกิจ SMEs และ Startups ก้าวกระโดดสู่ตลาดทุนได้ด้วยองค์ความรู้ และระบบการจัดการที่เข้มแข็ง โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญที่จะผลักดัน SMEs และ Startups ของไทยให้เติบโต อยู่รอด ด้วยการเข้ามาเรียนรู้ถึงโอกาส และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ LiVE Exchange
ด้าน ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร EMBRYO Incubation Program มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าถึงสิ่งที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหลักสูตรจะได้รับ ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ควรรู้ ได้แก่ การประเมินความพร้อมของธุรกิจก่อนเข้าระดมทุนในตลาด LiVE Exchange ทั้งในด้านการเงิน การบัญชี และระบบการตรวจสอบภายในที่โปร่งใส อีกทั้งผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ถึงการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบสดทางออนไลน์ โดยได้พันธมิตรชั้นนำอาทิ PwC Thailand, Baker McKenzie, APM Asset Pro Management,RS ที่จะมาร่วมกันให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการหลักสูตร EMBRYO Incubation Program คือการเป็น Springboard สำหรับการก้าวกระโดดของ SMEs และ Startups เข้าสู่แหล่งเงินทุนได้อย่างมีทางลัด รวดเร็ว โดยมีโครงสร้างหลักสูตร ดังนี้ Roadmap to Capital Market เปิดประตูสู่เส้นทางในตลาดทุน (LiVE Exchange-> mai-> SET) Readiness Checklist เช็คสถานะความพร้อมของธุรกิจ เพื่อสร้างแผนพัฒนาธุรกิจสู่เป้าหมาย Business Model for Growth พัฒนาโมเดลธุรกิจกับวิทยากรชั้นนำ สู่กลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน Financial & Accounting ปรับระบบหลังบ้านให้พร้อมก่อนระดมทุน Win Strategy วางกลยุทธ์ธุรกิจสู่การเติบโต พร้อมไปกับการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมอบรมในระหว่างเข้าการอบรมเป็นรายบริษัท โดยสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากความรู้ บริษัทที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถยื่นขอทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อใช้ในการสร้างความพร้อมของบริษัท อาทิ การจัดทำระบบงานที่สำคัญ สูงสุดบริษัทละ 50,000 บาท หลังสำเร็จหลักสูตร
อย่างไรก็ดี หลักสูตร EMBRYO Incubation Program นั้น ได้ริเริ่มและได้รับความสนใจจาก SMEs และ Startups โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 80 บริษัท ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องรอวัดผลสัมฤทธิ์จากการฝึกอบรมต่อไป ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุดเพียงแค่หนึ่งรุ่นเท่านั้น เนื่องด้วยการเกิดและเติบโตของธุรกิจ SMEs และ Startups นั้นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ให้บริการด้านวิชาการที่มีความพร้อมในการหยิบยื่นโอกาส ความรู้และพร้อมเป็นโค้ชตลอดเส้นทางสู่ตลาดทุนแก่ผู้ประกอบรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงมีแผนที่เปิดหลักสูตร EMBRYO Incubation Program สำหรับรุ่นต่อไปในอนาคตโดยพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมบริการในอาเซียน โดดเด่นในการสร้างนักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านการค้าและอุตสาหกรรมบริการ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศและภูมิภาค พร้อมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปและขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่