“กรุงไทย” ประกาศผลดำเนินงานช่วง 9 เดือนปี 2564 มีกำไรสุทธิ 16,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 จาก
ช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 5,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อมบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด คงการตั้งสำรองในระดับสูงเพิ่ม Coverage ratio เป็นร้อยละ 163.9 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารและบริษัทย่อยจึงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ โดยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับสูง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ พร้อมให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ประคองธุรกิจให้อยู่รอดและกลับมาเติบโตได้ในระยะข้างหน้า เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการและกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
สำหรับผลประกอบการช่วง 9 เดือนของปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 24,291 ล้านบาท แม้ว่าลดลงร้อยละ 31.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังเป็นการตั้งสำรองในระดับสูง ส่งผลให้ Coverage ratio เท่ากับร้อยละ 163.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 147.3 ณ สิ้นปี 2563 และ NPLs Ratio-Gross อยู่ที่ร้อยละ 3.57 ลดลงจากร้อยละ 3.81 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี ผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ เท่ากับ 47,841 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 8.3 ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 9.6 จากสิ้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษเงินให้สินเชื่อจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง รวมถึงการลดลงของดอกเบี้ยเงินลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลให้ NIM เท่ากับร้อยละ 2.52 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.8 จากการบริหารจัดการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.28 ใกล้เคียงกับร้อยละ 44.45 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ)
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 5,055 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.9 จากไตรมาสที่ผ่านมา จากกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ที่ลดลงร้อยละ 8.3 ตามรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 1.8 แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะขยายตัวร้อยละ 1.1 จากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดีและการบริหารต้นทุนทางการเงิน โดย NIM อยู่ที่ร้อยละ 2.51 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.55 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขาย
เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงร้อยละ 34.5 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ ลดลงร้อยละ 8.0 มาจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 6.4 เป็นผลจากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษเงินให้สินเชื่อจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง ประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากดอกเบี้ยรับเงินลงทุนในตราสารหนี้ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ลดลง ทั้งนี้ ธนาคารบริหารต้นทุนทางการเงินประกอบกับสินเชื่อขยายตัวได้ดี ซึ่งช่วยลดผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายในการภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ร้อยละ 4.4 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 46.21 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 47.16 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ)
ณ 30 กันยายน 2564 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 322,626 ล้านบาท และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 389,100 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 16.10 และร้อยละ 19.42 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงตามลำดับ
“แม้เศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเปิดประเทศ แต่ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจึงยังคงรักษาระดับการตั้งสำรองในระดับสูง ติดตามสถานการณ์ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ทันการณ์ ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งมาตรการลดภาระทางการเงิน การเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้ง Krungthai NEXT เป๋าตัง และถุงเงิน พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกกลุ่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น พร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”