- ในเดือนกันยายน 64 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้นส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าหนุนให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 17.1% จาก 8.9% ในเดือนสิงหาคม 64 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกของไทยเติบโตได้ถึง 15.5% และ เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและอาวุธขยายตัวได้ที่ 20.4% สะท้อนความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังสูง
- การส่งออกไปในประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการส่งออกไปใน CLMV ที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 8.2% จากที่ไม่เติบโตในเดือนสิงหาคม 64 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังเวียดนามเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดรุนแรงในประเทศ โดยมาตรการล็อกดาวน์ของทางเวียดนามค่อนข้างเข้มงวด เช่น ประชาชนต้องอยู่ในบ้าน และงดกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่จำเป็นทั้งหมด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในเวียดนาม อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ (+20.2%) ยุโรป (12.6%) และญี่ปุ่น (+13.2%) ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
- การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในเดือนกันยายน 64 เติบโตได้ที่ 15.7% จาก 3.3% ในเดือนสิงหาคม 64 โดยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยังสามารถเติบโตได้ที่ 10.3% แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ขยายตัวที่ 23.5% จากปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (+16.5%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (+11.2%) รวมถึง เคมีภัณฑ์ (+55.8%) ยังขยายตัวได้แข็งแกร่งต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับขยายตัว บ่งชี้ว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะยังอยู่ในระยะการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ในฝั่งของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อย ได้รับปัจจัยกดดันจากอาหารทะเลสดแช่แย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ที่เผชิญปัญหาการระบาดในโรงงานที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ 1 เมษายน-7 ตุลาคม 64 พบโรงงานที่มีการระบาดอยู่ที่ 1,093 แห่ง (โดย 5 อุตสาหกรรมหลักได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวคือ อุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม โลหะ และพลาสติก)
- ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ภาคการส่งออกจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้ในอีก 3 เดือนที่เหลือของปีอาจเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยในเรื่องของฐานและ pent up demand ที่เริ่มลดลง แต่โดยรวมทั้งปีการส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสที่ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 12.4% ทั้งนี้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น เศรษฐกิจโลกที่มีโมเมนตัมชะลอตัว การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมในจีน ทั้งจากแนวทางการปฏิรูปต่าง ๆ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่ประเด็นค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างมาก และปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกทั่วโลกรวมถึงไทย
สถานการณ์สินค้าและตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย
Disclaimer
————————————————————————————————-
รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)