โครงการสร้างเชฟอาหารไทย by พม. (Professional Thai Chef by MSDHS) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และการเคหะแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ โลตัส และสถาบันการอาหารไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการฝึกอบรมให้ทักษะ ความรู้ในการประกอบอาหารให้กับกลุ่มแม่และพ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อนำไปประกอบอาชีพเชฟที่สามารถสร้างความมั่นคงด้านรายได้ในการดูแลตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ความร่วมมือดังกล่าว โลตัสจะให้การสนับสนุนเครื่องปรุง วัตถุดิบ อาหารแห้งสำหรับการประกอบอาหาร ขณะที่สถาบันการอาหารไทยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสอนทักษะ เทคนิคต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร
โดย นายชุมพล แจ้งไพร เจ้าของสถาบันการอาหารไทย ตั้งเป้าหมายที่จะสอนให้กับกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. จำนวน 1,000 คน ทั่วประเทศ โดยกลุ่มแรกที่จะเข้าร่วมโครงการฯ มีการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม จากคณะกรรมการ กลุ่มเป้าหมาบของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 50 คน และกลุ่มเป้าหมายของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะสร้างรายได้ และอาชีพ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้สถานการณ์การแพร่ระบาด
ของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะคลี่คลายลง บางกิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่บางกิจการก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ จึงส่งผลให้อัตราการว่างงานยังคงสูงขึ้น ในส่วนของการเคหะแห่งชาติ กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะเป็นผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติที่เป็นแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้ที่ขาดรายได้ที่มีความสนใจในการประกอบอาชีพด้านอาหาร
“การเคหะแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานพัฒนาที่อยู่อาศัย มีประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ในโครงการจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสดีที่มีโครงการสร้างเชฟอาหารไทย by พม. ขึ้น เพราะจะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะในการประกอบอาหารให้กับผู้อยู่อาศัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพด้านอาหารหรือเชฟ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง มีอาชีพที่ยั่งยืน และดูแลครอบครัวได้อย่างมั่นคงต่อไป” นายทวีพงษ์ กล่าว
สำหรับโครงการสร้างเชฟอาหารไทย by พม. ได้ประชาสัมพันธ์และเปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งขณะนี้มีผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศสนใจเข้าร่วมกว่า 152 คน ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจ้างจากโควิด-19 และผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่น ๆ มีอายุตั้งแต่ 18 – 50 ปี ที่มีความสนใจในการประกอบอาชีพด้านอาหาร และมีความรู้เพียงพอสำหรับการเรียนออนไลน์และฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเอง รวมทั้งจะต้องมีเวลาเพียงพอในการเรียนและสามารถฝึกปฏิบัติในการประกอบอาหารเพื่อนำส่งผลงาน จำนวน 50 ราย เพื่อเข้ารับการอบรมต่อไป
สำหรับรูปแบบการอบรมจะแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎี (แบบออนไลน์) จำนวน 180 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการปรุงอาหาร ตลอดจนเทคนิคต่างๆ โดยสถาบันการอาหารไทย นำโดย เชฟชุมพล แจ้งไพร และทีมงาน จำนวนรวม 60 เมนูทั้งคาวและหวาน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบที่ใช้ในการอบรมจากโลตัส ส่วนการอบรมภาคปฏิบัติ (แบบออฟไลน์) จะจัดขึ้นที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 3 วัน ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะให้การสนับสนุนวัตถุดิบในการประกอบอาหารตลอดระยะเวลา 3 วัน
นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการต่อยอดหลังเสร็จสิ้นการอบรม การเคหะแห่งชาติ และสถาบันการอาหารไทย จะจัดให้มีการสอบสำเร็จหลักสูตรการประกอบอาหารไทยในระดับมืออาชีพ (Master Thai Chef Program) เป็นระยะเวลา 2 วัน วันละ 2 รอบ และรอบละ 25 คน โดยผู้ที่ผ่านการสำเร็จหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากทางสถาบันฯ และได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน และผู้ที่ประสงค์จะประกอบวิชาชีพทางด้านอาหารหรือเป็นเชฟ ทางสถาบันฯ จะเป็นผู้จัดหางานให้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป