เปิดผลงานวิจัยชิ้นโบว์แดง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อาจารย์ ดร.อลงกต ฝั้นกา และคณะกลุ่มวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาแร่วิทยา และธรณีเคมีของดินสอพองแหล่งจ.ลพบุรี-สระบุรี พบว่าเป็นวัสดุทางการเกษตรที่ดี เหมาะกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไร้การปนเปื้อนโลหะหนักที่อาจเป็นอันตราย
โดยดร.อลงกต ฝั้นกา และคณะกลุ่มวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่มีการผลิตดินมาร์ล หรือดินสอพอ ในประเทศไทยพบในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีเป็นส่วนใหญ่ โดยปัจจุบันมีการผลิตดินมาร์ลสู่อุตสาหกรรมต่างๆ จากกลุ่มพัฒนาอาชีพทำดินสอพอง บ้านหินสองก้อน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีสมาชิกผู้ผลิตดินสอพองจำนวนมากกว่า 200 ราย ซึ่ง ดินสอพองเป็นวัสดุที่มีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
.
ทั้งนี้จากผลการวิจัยคุณลักษณะทางแร่วิทยาและธรณีเคมีของดินดินสอพองจังหวัดลพบุรีและสระบุรีของกลุ่มวิจัยฯ พบว่าดินสอพองในพื้นที่ศักยภาพดังกล่าวมีแร่องค์ประกอบหลัก ได้แก่ แร่แคลไซต์ แร่ควอตซ์ และแร่โดโลไมต์ นอกจากนี้ยังพบกลุ่มแร่เคลย์หลายชนิด สำหรับผลการศึกษาองค์ประกอบเคมีของดินมาร์ลประกอบด้วยองค์ประกอบหลักคือแคลเซียมออกไซด์ (CaO) และซิลิคอนไดออกไซด์ (Si2O) ที่สำคัญคือปราศจากการปนเปื้อนองค์ประกอบของโลหะหนัก
.
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พบว่าแหล่งวัตถุดิบดินสอพอในประเทศไทยที่ผลิตออกสู่อุตสาหกรรมต่างๆ และส่งต่อไปยังผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ นั้น ยังไม่มีการศึกษารายละเอียดทั้งด้านลักษณะแร่วิทยาที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของดินสอพอง และลักษณะธรณีเคมีที่แสดงถึงองค์ประกอบเคมีของดินสอพอในแหล่งวัตถุดิบหลักเหล่านี้ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจทั้งคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของดินสอพออย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินมาร์ลของประเทศไทยในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมและมีมูลค่าสูงที่สุด และนอกจากนี้การศึกษาแร่วิทยาและธรณีเคมีของดินสอพองยังทำให้เกิดความเข้าใจกระบวนการทางธรณีวิทยาและการสะสมตัวของแหล่งแร่ รวมไปถึงแหล่งที่มาของแร่เพื่อนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
สำหรับผลวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่จากการศึกษา ในครั้งนี้ พบว่า คุณสมบัติดินสอพองแหล่ง จ.ลพบุรี-สระบุรี มีคุณสมบัติด้านเป็นวัสดุทางการเกษตรที่ดี โดยเฉพาะการปรับปรุงดินที่เป็นกรด และยังพบว่ามีคุณสมบัติการดูดซับฟอสเฟตได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาในครั้งนี้ยังพบว่า ดินสอพองยังเหมาะกับอุตสาหกรรมมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับใช้เป็นวัตถุสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี และปลอดภัยต่อสุขภาพไร้การปนเปื้อนโลหะหนักที่อาจเป็นอันตราย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับผลิตไบโอดีเซลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่ายังมีคุณสมบัติในการดูดซับสารปนเปื้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารปนเปื้อนของสีย้อมจากอุตสาหกรรม