ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมาเข่ง และหลังจากที่มีการออกคำสั่งดังกล่าวไปนั้น ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยต่างๆ รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ออกมาขานรับและพร้อมยืนยันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนสิ้นสุดสัญญาประกันภัย ต่อมาเมื่อช่วงปลายปี 2564 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ปรากฏว่าสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ทำหนังสืออุทธรณ์การออกคำสั่งที่ 38/2564 ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) เพื่อเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกรอบระยะเวลาเพื่อเสนอความเห็นบอร์ด คปภ. พิจารณาต่อไป และเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสำนักงาน คปภ. จึงได้เชิญตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ประกอบด้วย นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มาประชุมร่วมกันเพื่อระดมความเห็นและให้ข้อแนะนำว่าทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร
- สคบ.ชี้ขัดมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีความเห็นว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เป็นการออกคำสั่งที่ถูกต้องและมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย โดยเห็นว่านายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของบริษัทประกันภัยที่ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา แม้ว่าในสัญญาประกันภัยจะมีข้อสัญญาให้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่เห็นว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยสุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในขณะเข้าทำสัญญาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะต้องคาดหมายได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดจะมีความรุนแรงแค่ไหน และจะมีผลกระทบทางด้านสาธารณสุขที่บริษัทประกันภัยจะสามารถรับมือได้หรือไม่ บริษัทประกันภัยจะต้องมีการวางแผนรับความเสี่ยงอยู่แล้วก่อนออกผลิตภัณฑ์ โดยไม่สามารถอ้างได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดมีผลต่อการบริหารความเสี่ยง ภายหลังที่มีการออกผลิตภัณฑ์แล้ว การที่บริษัทประกันภัยเข้าทำสัญญาประกันภัย จึงเป็นการตกลงรับความเสี่ยงจากผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ที่สามารถคาดหมายและรับมือไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้ หากนายทะเบียนยินยอมให้บริษัทประกันภัยเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้บริษัทประกันภัยหลอกลวงผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียวของบริษัท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกกรมธรรม์ หากมีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้บริโภคได้ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
- กลุ่มเส้นด้าย “ค้านยกเลิกคำสั่งฯ” 99.50 เปอร์เซ็นต์
นายคริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มีความเห็นว่า กลุ่มเส้นด้ายได้มีการโพสต์ประเด็นการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 500,000 ราย และได้รับทราบความคิดเห็นจากประชาชน โดยพบว่าประมาณ 99.50 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนที่แสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้สำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และมีหลายความเห็นตอบกลับมาว่า ตอนนี้มีความยากลำบากมากอยู่แล้ว การที่ประกันภัยเข้ามาช่วยเหลือก็สามารถเยียวยาความเสียหายในกรณีที่มีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด ซึ่งถือเป็น Financial Loss เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจะไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงเห็นว่า สำนักงาน คปภ. ควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียนเดิม
ในส่วนของข้อกฎหมายเห็นว่า แม้จะมีการระบุไว้ในข้อสัญญา แต่การบอกเลิกสัญญาในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากปล่อยให้บริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ได้ ก็จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก โดยก่อนที่บริษัทประกันภัยจะออกผลิตภัณฑ์นี้ บริษัทประกันภัยน่าจะเห็นตัวอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิดจากต่างประเทศมาบ้างแล้ว กรณีนี้ประชาชนจะมองว่า บริษัทประกันภัยแสวงหาแต่ผลกำไร แต่พอบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากก็จะยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน