กสิกรไทยส่งมาตรการด่วนช่วยลูกค้าเจ้าของฟาร์มหมูและผู้ค้าทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด ASF ในขณะนี้ เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือลูกค้าอย่างเร่งด่วนด้วย 2 มาตรการ คือ มาตรการ “พักชำระเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย” นานสูงสุด 6 เดือน ช่วยลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ และมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก พักชำระเงินต้นนานสูงสุด 24 เดือน และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจและปรับปรุงสถานประกอบการให้กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง วงเงินช่วยเหลือกว่า 2,000 ล้านบาท
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกัน หรือ ASF ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้เจ้าของฟาร์มและผู้ค้าหมูทั้งระบบได้รับความเดือดร้อน และยังส่งผลให้เนื้อหมูขาดแคลนจนมีการปรับราคาขายปลีกสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ธนาคารได้เร่งติดตามสอบถามผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในจังหวัดที่มีการทำฟาร์มหมูจำนวนมาก เช่น นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้า โดยส่งมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อช่วยลูกค้าของธนาคารทั้งเจ้าของธุรกิจฟาร์มหมู เขียงหมู และโรงเชือด ดังนี้
• มาตรการพักชำระเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าของธนาคารอย่างเร่งด่วน ด้วยการพักชำระเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย นานสูงสุด 6 เดือน
• มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจและใช้ลงทุนหรือปรับปรุงสถานประกอบการให้กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง โดยลูกค้าปัจจุบันจะกู้ได้สูงสุด 30% ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่มีอยู่กับธนาคารกสิกรไทย สูงสุด 150 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย นานสูงสุด 24 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก โดยเฉลี่ย 5 ปี อัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิน 5% ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และฟรีค่าธรรมเนียมการจัดการให้กู้
นายกฤษณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยมุ่งหวังที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่ลูกค้าได้รับ และพร้อมที่จะเดินเคียงข้างสู้กับทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ สำหรับวิกฤตหมูแพงในครั้งนี้ ธนาคารได้เตรียมวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า โดยลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและสนใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถสอบถามรายละเอียดหรือติดต่อได้ที่ ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าของท่าน หรือ K-BIZ Contact Center 02-8888822 ได้ตั้งแต่วันนี้- 31 ธันวาคม 2565