กรณีสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้นำเสนอข่าว “เอกชน” ร้องดีเอสไอ ปมการเคหะแห่งชาตินำ หจก.
เข้าหาประโยชน์โครงการบ้านเอื้ออาทร 2 พันล้านบาท ชี้จ่ายเงินไปแค่ 1 พันล้านบาท ก่อนส่งคนเข้าบุกรุก ยึดอาคารขายต่อ หวั่นประชาชนเสียหายเพราะหลงเชื่อนั้น
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ชี้แจงว่า ประเด็นที่ผู้ร้องเรียนยื่นหนังสือถึงดีเอสไอนั้น
ไม่เป็นความจริง มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย สืบเนื่องจากการเคหะแห่งชาติได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการฯ กับบริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อจัดสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวน 5,830 หน่วย โดยต้องจัดหาที่ดินและเงินทุนเพื่อก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเข้าอยู่ได้จนครบทุกหน่วย ค่าตอบแทน 2,448,600,000 บาท สัญญาเลขที่ กคช. (บค.4) 26/2549 ลว.2549 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 การจัดหาที่ดิน จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 9 แปลง (ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวม 124-2-49.1 ไร่ ให้แก่การเคหะแห่งชาติภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง (ฉบับ ลว.29 พฤษภาคม 2549) ตกลงราคาไร่ละ 3,200,000 บาท รวมค่าที่ดิน 398,792,800 บาท บริษัทฯ ได้ทำการโอนที่ดินให้กับการเคหะแห่งชาติ และการเคหะแห่งชาติได้ชำระเงินค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 จึงถือว่าการเคหะแห่งชาติเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยสมบูรณ์
ส่วนที่ 2 รับจ้างก่อสร้าง แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 และ 2 ก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 4,529 หน่วย ค่าก่อสร้าง 1,589,912,000 บาท กำหนดระยะเวลา 540 วัน นับถัดจากวันที่ผู้ร่วมดำเนินกิจการได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้การเคหะแห่งชาติครบทุกแปลง (นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 – วันที่ 21 พฤศจิกายน 2550) และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 บริษัทฯ ได้ตกลงทำบันทึกขอลดหน่วยก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 เหลือ 896 หน่วย และโครงการฯ ระยะที่ 2 เหลือ 986 หน่วย
- ระยะที่ 3 ก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 1,121 หน่วย ค่าก่อสร้าง 384,295,200 บาท กำหนดระยะเวลา 480 วัน นับถัดจากวันที่ผู้ร่วมดำเนินกิจการได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้การเคหะแห่งชาติครบทุกแปลง (นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 – วันที่ 22 กันยายน 2550) โดยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 การเคหะแห่งชาติและบริษัทฯ ได้ทำบันทึกยกเลิกหน่วยก่อสร้างทั้งหมด จำนวน 1,121 หน่วย
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งได้มีการขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 5 ครั้ง รวมจำนวน 900 วัน รวมระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาทั้งสิ้น 1,440 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 – วันที่ 9 พฤษภาคม 2553) เมื่อครบกำหนดสัญญาปรากฏว่า บริษัทฯ ทำงานได้เพียงร้อยละ 70.918 ของงานทั้งหมด ถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา
การเคหะแห่งชาติจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาวันที่ 24 มกราคม 2554 ทั้งนี้ สิ่งปลูกสร้างในโครงการฯ จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการเคหะแห่งชาติตามสัญญาก่อสร้าง เนื่องจากมีการส่งมอบงวดงานให้กับการเคหะแห่งชาติไปแล้ว จากนั้นการเคหะแห่งชาติได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ค้ำประกัน ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา และบริษัทฯ ฟ้องร้องการเคหะแห่งชาติ เพื่อขอรับชำระค่าก่อสร้างที่การเคหะแห่งชาติยังชำระไม่หมด ตามคดีหมายเลขดำที่ 87/2556 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556
หลังจากนั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ให้บริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด ชำระเงินค่าเสียหายจากการผิดสัญญา จำนวน 131,551,444.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 71,623,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีฯ ให้แก่การเคหะแห่งชาติ และให้การเคหะแห่งชาติชำระเงินจำนวน 28,712,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นค่างานที่ทำได้จริงและยังไม่ได้เบิก
การเคหะแห่งชาติและบริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อศาลปกครองสูงสุด ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ โดยยินยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ การเคหะแห่งชาติแล้ว จำนวน 103,684,145 บาท ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เพราะฉะนั้นการเคหะแห่งชาติสามารถปรับปรุงทรัพย์สินของตนเองได้ ไม่เกี่ยวข้องกับคดีที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่