SO พบนักลงทุนวันออฟเดย์ ลั่นปักหมุดเป็น Tech Company รายใหม่ของเมืองไทย โดดเด่นด้านจ้างเหมาบริการครบวงจร รวมสรรพกำลังดึงพันธมิตร ผนึกสตาร์ทอัพสร้างระบบนิเวศให้เกิดนวัตกรรมและการบริการแบบใหม่
สยามราชธานี ประกาศพร้อมปรับจากธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรแบบดั้งเดิม เป็น Tech Company หลังปัดฝุ่น ปรับทัพและกลยุทธ์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลุยจับมือพันธมิตร คู่ค้าและสตาร์ทอัพสร้างระบบนิเวศให้เกิดผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ ย้ำชัดเป้าหมายมีไว้พุ่งชนเป็น Global Business Process Outsourcing ในอนาคต ไม่ห่วงสภาพคล่องหลังเข้าตลาดหุ้น เพราะช่วยเพิ่มสถานะทางการเงินที่มั่นคงและเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากขึ้น
นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยในงานวันที่ผู้บริหารพบนักวิเคราะห์และผู้ลงทุน (ออฟเดย์) เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 ว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลังบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เงินที่บริษัทได้นำเงินระดมทุนทำให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สรุปเป็น 3 ประเด็นหลักคือ
1.ช่วยปรับเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรแบบดั้งเดิม (Traditional Outsourcing) เป็นบริษัทที่เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น หรือ Tech company เนื่องจาก SO มีบุคลากรทางด้านที่การใช้เทคโนโลยี (Peopleware) ทำให้มีฐานข้อมูล (Database) ด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource) มากกว่า 1 แสนคน ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งให้กับบริษัทเพราะส่งผลให้สร้างนวัตกรรมอื่นเพิ่ม ตั้งแต่ด้าน Peopleware ด้าน Software และ Hardware ที่จะนำไปสู่การบริการที่หลายหลายและครบวงจร (Fully Integrated Solution) และยังช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้สะดวกสบาย รวมถึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาได้อีกด้วย
2.มีการตั้งแผนกเทคโนโลยี (Technology) และแผนกการลงทุน (Investment) แยกจากธุรกิจหลัก (Core Business) โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถมุ่งมั่นและโฟกัสในการสร้างธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ก้าวกระโดดใหม่ (New S-Curve) ทั้งทางด้าน Technology และ Digital Transformation ให้แก่สยามราชธานี หลังจากได้ปรับการทำงานลดลำดับขั้นตอนที่ยุ่งยากโดยใช้ Agile มากขึ้น
และ 3.เริ่มเกิดความร่วมมือเซ็นสัญญาและร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้ที่ให้บริการครบวงจรเหมือนกัน สตาร์ทอัพ ต่างๆ อาทิเช่น ความร่วมมือเพื่อสร้าง IT Infrastructure ร่วมกันกับ Huawei Technology การได้เป็นหนึ่งในผูู้ร่วมลงทุนพันธมิตร Strategic Partners ใน VC Fund ของ Krungsri Finnovate และยังอยู่ระหว่างการร่วมพัฒนา Outsourcing Solution ร่วมกันกับสตาร์ทอัพ รวมถึงเริ่มตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทางด้านยุทธศาสตร์ของบริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อนาคตจะร่วมกันพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อใช้ในหน่วยงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
“จาก 3 ปัจจัยหลักที่บริษัทพยายามทำอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะต้องการให้สยามราชธานีเป็นบริษัทที่รู้จักในแวดวงธุรกิจและนักลงทุนมากขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างการรับรู้ว่า ปัจจุบัน SO อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อเป็นบริษัท Tech Company จากเดิมเป็น Traditional Outsourcing” นายณัฐพลกล่าว
นอกจากนั้น วิสัยทัศน์ของบริษัทในระยะยาว คือ สยามราชธานีต้องการเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจบริการจ้างเหมาแบบครบวงจรระดับโลก (Global Business Process Outsourcing) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสตาร์ทอัพให้เติบโต รวมถึงพร้อมเป็นผู้ลงทุนและเป็นพื้นที่สนามให้กับผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือสตาร์ทอัพได้ทดสอบ (Sandbox) การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถเกิดการใช้จริงในโลกปัจจุบันได้ (Real World Environment)
อย่างไรก็ดี ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,086 ล้านบาท จาก 2 แรงขับเคลื่อนหลักคือ 1.การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการการจ้างเหมาบริการครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา (R&D) และเกิดนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น และ 2.การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ กับพันธมิตรของบริษัท รวมถึงพร้อมที่จะลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อมีโอกาส เนื่องจากมองว่าจะช่วยให้เกิดทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ และการบริการรูปแบบใหม่ที่จะสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการลูกค้าได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทขยายฐานได้กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“เช่นเดียวกันที่ปีนี้บริษัทพยายามจะรักษาอัตราการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นผลชัดเจนจากที่ปีแล้วกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 20% และตัวเลขอัตรากำไรสุทธิก็ปรับขึ้น รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นก็ยังสามารถรักษาในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าได้ ทั้งนี้เพราะบริษัทมีนโยบายใช้กลยุทธ์การลดหรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งเรื่องของเวลาและเงินทุน (Lean) ที่ทำมาต่อเนื่องมาตลอด 2-3 ปี และที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีและ
นวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินงานที่สามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนการทำงานให้กับลูกค้า” นายณัฐพลกล่าว
นางสาวกัณธิมา แจ้งวันสุข กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปี 2564 SO มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 20.8 % จากปีก่อนที่ทำได้ 139 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากทุกหน่วยธุรกิจของบริษัท โดยมีอัตรากำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 8.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 6.8% ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.8 % ซึ่งใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ 18.3% ขณะที่ตัวเลขสถานะการเงินมีความแข็งแกร่งมาก
อย่างไรก็ดี บริษัทพยายามจะที่พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินในธุรกิจหลักของบริษัทให้เติบโตเฉลี่ยระดับ 10 % จากฐานลูกค้าปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ยังลดค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานต่อเนื่องตามการชะลอของเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น SO พยายามพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งข้อติดขัดการใช้บริการของลูกค้า (Pain Point) อีกทั้งนี้บริษัทจะมีการเผยแพร่กรณีตัวอย่างของบริษัทที่มีการใช้นวัตกรรมใหม่มาแสดงผลให้บริษัทที่สนใจลดขั้นตอนกระบวนการทำงานได้เห็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร (Outsourcing Show Case) ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจัดสัมมนาหรือแนวทางอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจอื่นได้สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์การใช้งานในแบบฉบับของตัวเองได้ (Reapply)
นายอภิวัฒน์ เกรียงวัฒนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการลงทุนและโครงการ กล่าวว่า การเข้าตลาดหุ้นทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงจนมีความสามารถให้เกิดการแข่งขันได้มากขึ้น โดยประเมินว่าสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนได้กว่า 1,000 ล้านบาท และปีที่ผ่านมา SO มีการเซ็นเอ็มโอยูเพื่อพิจารณาเรื่องการลงทุนกับร่วมพัฒนาธุรกิจ (Partnership) โดยมีเป้าหมายเน้นการลงทุนธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะทางด้าน Software House และ Professional Training รวมถึง Outsourcing Provider ที่สามารถต่อยอดธุรกิจให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังเปิดโอกาสที่จะให้กับบริษัทหรือสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เห็นว่ามาช่วยกันทำให้เกิดสิ่งใหม่ก็สามารถเข้ามาร่วมกันพัฒนาเรียนรู้กันได้ตลอดเวลา
สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในกลุ่มบริษัท ADI Thailand ซึ่งประกอบธุรกิจกิจการเกี่ยวกับการบริการจัดหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Staff Outsourcing) และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Consulting Services) ในประเทศไทยและและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะ SO มีเป้าหมายที่จะเป็น IT Outsourcing เนื่องจาก ADI มีบุคลากรด้านไอทีกว่า 500 คนที่น่าจะช่วยให้บริการให้กับบริษัทชั้นนำในประเทศไทยได้หลากหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการทำดำเนินการประเมินมูลค่าทางธุรกิจ (Due Diligent) ซึ่ง SO ตั้งใจเป็นการลงทุนแบบเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investor) ที่จะซื้อทั้งบริษัท ทำให้ต้องมีการพิจารณารายละเอียดเพิ่มขึ้น รวมถึงการรวมพนักงานเข้ามาที่บริษัทด้วย ขณะที่รูปแบบการทำดีลที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ทั้งหมดนี้ขอให้มั่นใจว่าจะลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน