กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ในการวิจัยและพัฒนาด้านกัญชงและกัญชาของประเทศสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2570 ณ ห้องประชุม 902 ชั้น 9 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เป็นประธานในพิธีฯ โดย นายแพทย์พิเชฐ กล่าวถึงการลงนาม ความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านสมุนไพรอย่างครบวงจร โดยมีกระบวนการตั้งแต่การปลูกและอนุรักษ์สายพันธุ์ การจัดจำแนกสายพันธุ์ การศึกษาวิจัยระยะพรีคลินิก การศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีคุณภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้กรมได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ตั้งแต่ การปลูก การสกัด การวิเคราะห์ และการวิจัย เพื่อต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ ซึ่งการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จะเป็นการบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ด้านกัญชง กัญชาอย่างครบวงจร และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร และทรัพยากรในการวิจัยและการพัฒนา ด้านกัญชง กัญชาอย่างสร้างสรรค์ อันจะส่งผลให้เกิดการผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า ของกัญชง กัญชาต่อไป
นายแพทย์พิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง เป็นความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาระบบการปลูกกัญชาในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ของแต่ละสายพันธุ์ให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพสำหรับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์อ้างอิงของกัญชาพันธุ์ไทยต่อไป
“ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้วิจัยเพื่อจำแนกสายพันธุ์ โดยพัฒนาพันธุ์กัญชาไทย 4 พันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอก หางเสือ ตะนาวศรีก้านขาว และตะนาวศรีก้านแดง รวมทั้งศึกษา ทางด้านพฤกษศาสตร์ สารพันธุกรรม และทางด้านเคมีของกัญชาแต่ละพันธุ์ ซึ่งผลจากการศึกษา พบว่า กัญชาพันธุ์ไทยนั้น มีลักษณะเด่นถึง 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 คือ กัญชาพันธุ์ที่ให้สาร THC สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางเสือ และตะนาวศรีก้านขาว
แบบที่ 2 คือ กัญชาที่ให้สาร THC และ CBD ในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่กัญชาพันธุ์หางกระรอก
และแบบที่ 3 คือ กัญชาที่ให้สาร CBD สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง
ซึ่งกัญชาแต่ละสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกันนั้นก็จะมีการบ่งใช้หรือเหมาะกับการรักษาโรค ที่ต่างกันอีกด้วย และในขณะนี้เราได้ดำเนินการศึกษาเทคนิคการปลูกกัญชาให้มีคุณภาพดีและสารสำคัญสูง ในโรงเรือนแบบ Green House และได้รับจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ เพื่อเป็นสายพันธุ์อ้างอิงของประเทศไทยแล้ว”นายแพทย์พิเชฐ กล่าว