แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ แต่โดยรวมการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์กลับมีความผันผวนพอสมควร โดยปัจจัยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงิน นั้นมาจากความหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากที่ยูเครนแสดงท่าทีพร้อมยอมรับเงื่อนไขสถานะเป็นกลางของประเทศ ขณะที่ปัจจัยกดดันตลาดการเงินนั้นมาจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ยังมีความรุนแรงอยู่และทำให้ล่าสุดทางการจีนประกาศ Lockdown เซียงไฮ้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจโลก และยังทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหนัก (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ย่อตัวลงจากระดับ 114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 108ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) จากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจากจีนที่ลดลง หากเศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +1.31% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้น Tesla ที่พุ่งขึ้นกว่า +8.0% จากแนวโน้มการประกาศเพิ่มจำนวนหุ้น (Stock Split) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ แต่ก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและการเงิน ทำให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง +0.71%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว 0.50% ท่ามกลางความหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงิน BNP Paribas +2.1%, Santander +0.8% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ TotalEnergies -1.9%, Eni -1.4% ทำให้โดยรวมดัชนี STOXX50 ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 2.55% ตามแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงต้นของตลาด ทว่า การย่อตัวลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบก็กลับมากดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 2.45% อนึ่ง เรามองว่า แม้ในระยะสั้นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะยังคงผันผวนและแกว่งตัวในกรอบ sideways แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคม ที่เราประเมินว่า อาจจะสามารถเห็นจุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ในปีนี้ได้ นอกจากนี้ เรามองว่า แม้ในระยะสั้น อาจเห็นภาพการเกิด Inverted Yields Curve (IYC) ขึ้น ในฝั่งสหรัฐฯ (ภาวะที่บอนด์ยีลด์ระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้นกว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวกว่า เช่น บอนด์ยีลด์ 5 ปี สูงกว่า บอนด์ยีลด์ 30 ปี) ซึ่งภาวะดังกล่าวในอดีตมักจะเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีโอกาสเผชิญภาวะซบเซาและถดถอยในที่สุด แต่เรามองว่า IYC อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักในปัจจุบัน เนื่องจากการทำคิวอีของบรรดาธนาคารกลางหลักอาจบิดเบือนตลาดบอนด์ไปจากในอดีต รวมถึงปัจจุบัน บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสงครามอยู่ ซึ่งจากงานวิจัยของเฟด พบว่า สัญญาณที่อาจสะท้อนถึงโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ดีกว่านั้นจะมาจาก Near-term spread หรือส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 3 เดือนที่คาดการณ์ล่วงหน้า 18 เดือน กับ บอนด์ยีลด์ 3 เดือน ในปัจจุบัน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนหนัก โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงหนัก หลังจากที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 10ปี แบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อควบคุมไม่ให้ ยีลด์ 10 ปี พุ่งทะลุเกินระดับ 0.25% อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ได้ย่อตัวลงเล็กน้อย ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และบรรยากาศในตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ที่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 99.09 จุด ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ในช่วงต้นของตลาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง สู่ระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอเข้าซื้อ buy on dip หากราคาทองคำย่อตัวลงใกล้แนวรับสำคัญในช่วง 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อหวังการรีบาวด์กลับสู่แนวต้านในระยะสั้น หากตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสงคราม หรือ โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ John Williams และ Patrick Harker เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า มีโอกาสมากกว่า 70% (จาก CME FedWatch Tool) ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน
นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายจะกลับมาเดินหน้าเจรจากันอีกครั้ง ซึ่งหากการเจรจามีความคืบหน้ามากขึ้นก็อาจช่วยลดความร้อนแรงของสถานการณ์และช่วยให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยระหว่างวันมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่า ไปทดสอบแนวต้านใหม่ในโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การอ่อนค่าหนักของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจหนุนให้ยังคงมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงปิดปีงบประมาณของทางบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นอีกแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท
ทั้งนี้ เรามองว่า หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยหนัก เงินบาทก็จะไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งล่าสุด นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติก็มีไม่มากนัก แต่ยังคงมีแรงขายบอนด์ระยะยาวจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ สอดคล้องกับภาพการปรับลดการถือครองบอนด์ในตลาด EM เพื่อลดแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ ซึ่งเราคาดว่า หากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดในปีนี้ในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคมได้ แรงกดดันต่อบอนด์ระยะยาวก็จะเริ่มลดลง และอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวของไทยมากขึ้นได้เช่นกัน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์