นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาในปีนี้ที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดิม
ธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวต่อลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าบุคคล ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย จึงได้ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
โครงการความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของธนาคารพาณิชย์ ครอบคลุมลูกหนี้เกือบ 14 ล้านราย ซึ่งโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่
- การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย อาทิ การขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ตลอดจนการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง สินเชื่อบ้าน ซึ่งได้ช่วยลูกค้าไปแล้วจำนวน 13.8 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.12 ล้านล้านบาท
- การปล่อยสินเชื่อ โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ตามมาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 1.4 หมื่นราย เป็นวงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท
- มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผ่านธนาคารออมสิน ช่วยลูกค้าไปเป็นวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการกระจายสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงินโครงการทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 49,804 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ 28,722 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กมีสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2562 ไม่เกิน 20 ล้านบาท จำนวน 20,680 ราย รองลงมาเป็น SMEs ขนาดกลาง (วงเงินสินเชื่อ 20-100 ล้านบาท) และ SMEs ขนาดใหญ่ (วงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท) จำนวน 5,880 ราย และ 2,162 รายตามลำดับ
ทั้งนี้ สินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินโครงการ ทำให้ยอดสินเชื่อจะยังไม่สูงมาก แต่จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็จะยังคงเดินหน้าโครงการและแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้มั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะให้การดูแลลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับบทบาทในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป