Monday, 6 May 2024 | 3:27 pm
spot_img
Monday, 6 May 2024 | 3:27 pm
spot_img

Wood Pellets ตัวช่วยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality

  • ปัจจุบัน โรงอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ค่อนข้างน้อย แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับมูลค่าตลาดเชื้อเพลิง Wood Pellets ในประเทศ ที่คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาทในปี 2568 จากราว 1.3 พันล้านบาท ในปี 2564 โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากภาครัฐที่ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 เนื่องจาก Wood Pellets จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการเผาไหม้เชื้อเพลิง
  • Krungthai COMPASS ประเมินข้อดีของการใช้ Wood Pellets สำหรับโรงงานขนาด SME โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และเคมีภัณฑ์ และยาง ที่ดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับ Wood Pellets และหันมาใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว จะประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 64% เมื่อเทียบกับกรณีที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
  •  ในส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิง Wood Pellets จะเหมาะกับการเก็บเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีที่เชื้อเพลิงมวลหลักขาดแคลน อีกทั้ง การใช้เชื้อเพลิงนี้ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเชื้อเพลิงได้ถึง 0.8-2.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ 
พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ Krungthai COMPASS

เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellets) เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนที่จะถูกใช้แพร่หลาย และจะเข้ามามีบทบาทในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาครัฐของไทยที่มีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 อีกทั้ง ผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่ทำให้เกิดการจำกัดการส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันและราคาพลังงานรูปแบบอื่นในประเทศอยู่ในระดับสูงในปีนี้ แนวโน้มดังกล่าวได้กดดันให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจโรงไฟฟ้าต้องปรับตัว โดยแนวทางหนึ่งคือการหันมาใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้ามากขึ้น เพราะนอกจากการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงแล้ว ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้าอีกด้วย

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านทำความรู้จัก Wood Pellets รวมทั้งประโยชน์ และแนวทางในการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ Wood Pellets ร่วมกับเชื้อเพลิงที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน

I. ทำความรู้จักกับเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด 

เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellets) หมายถึง เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น เศษไม้ยางพารา ทะลายปาล์ม ฟางข้าว ที่ผ่านการแปรสภาพโดยการอบไล่ความชื้น แล้วนำมาบด และอัดให้มีลักษณะเป็นแท่งกลมที่มีความหนาแน่นสูง1 ทำให้เชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถผลิตพลังงานความร้อนเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น รวมทั้ง ยังสะดวกในการจัดเก็บ และขนส่ง นอกจากนั้น การใช้เชื้อเพลิง Wood Pellet ในการผลิตไฟฟ้ายังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวมวลอีกด้วย 

ยิ่งไปกว่านี้ ปัจจุบัน Wood Pellets ได้ถูกพัฒนาคุณสมบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการเผาเชื้อเพลิงชีวมวลในที่อับอากาศที่มีอุณหภูมิ 250-300 องศาฯ แล้วนำมาอัดเป็นเม็ด จนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เรียกว่า Torrefied Pellets ซึ่งมีคุณสมบัติเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับถ่านหิน แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 

โดยปัจจุบัน เชื้อเพลิง Wood Pellets ซึ่งรวมถึง Torrefied Pellets ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

II. ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในไทยใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets มากน้อยเพียงใด? 

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้า และพลังงานความร้อนมาจาก 2 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งคือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 55% และ 45% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ทั้งหมด  ตามลำดับ

ในส่วนของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets ค่อนข้างน้อยในการผลิตพลังงานความร้อน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร และแปรรูปเกษตร รวมถึงเคมีภัณฑ์ เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยที่เริ่มนำ Wood Pellets ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานปูนซีเมนต์  เนื่องจากโรงงานในกลุ่มนี้มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงดังกล่าวได้ สอดคล้องกับสัดส่วนปริมาณพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets ที่อยู่ประมาณ 28% ของปริมาณการผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมของไทยทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มี่สัดส่วนสูงถึง 63%2 เนื่องจากโรงงานในปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องการดัดแปลงต่อเติมระบบผลิตพลังงานความร้อน (เครื่องกำเนิดไอน้ำ) เดิมที่ได้ติดตั้งกับเครื่องจักรไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วม  

สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า ปัจจุบันกลุ่มโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้าน้อยมาก เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Wood Pellets สูงกว่าเชื้อเพลิงชีวมวลค่อนข้างมาก ซึ่งไม่จูงใจให้โรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับ การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อร่วมในโรงไฟฟ้าถ่านหินยังบั่นทอนกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3-10%3 

อย่างไรก็ดี ในระยะ 4-5 ปี ข้างหน้า คาดว่าผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้า และความร้อนมากขึ้น ทำให้ Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าตลาด Wood Pellets ในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวเป็น 1.8 พันล้านบาท ในปี 2568 จาก 1.3 พันล้านบาท ในปี 2564  การมีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาข้อจำกัดในการดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงขึ้นมาใหม่ และเดินขนานกับเครื่องกำเนิดไอน้ำเดิม3 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้โรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และแปรรูปเกษตร หันมาใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำดังกล่าว และ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น

นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 2,220 เมกะวัตต์หันมาใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. อย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเริ่มนำ Wood Pellets ไปเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้า เพราะการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งส่งผลให้ความต้องการในกลุ่มโรงไฟฟ้าเติบโตในอัตราเร่งขึ้น   

III. การใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทยอย่างไร?

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเคมีภัณฑ์ และยาง เป็นต้น เปลี่ยนมาดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับเชื้อเพลิง Wood Pellets และหันมาใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิง แทนที่น้ำมันดีเซล จะสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยได้ถึง 64% หรือ 3.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการคุ้มค่าในการลงทุนดัดแปลงเครื่องดังกล่าว ซึ่งใช้งบการลงทุนประมาณ 4.1 ล้านบาทภายใน 1 ปี ทั้งนี้ งบประมาณจำนวนนี้สามารถดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำที่กำลังการผลิต 7.13 ล้าน MJ/Kg ต่อปี ซึ่งอาจเหมาะกับผู้ประกอบการขนาด SME ที่มีรายได้ประมาณ 200-250 ล้านบาท/ปี สอดคล้องกับรายได้ของผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้ใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำที่มีกำลังการผลิตดังกล่าวในโครงการ”สาธิตการใช้เชื้อเพลิงอัดเม็ดในหม้อน้ำขนาดเล็กเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคอุตสาหกรรม”ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

แม้ว่าการใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานความร้อนแทนที่น้ำมันดีเซล จะช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคที่ทำให้เชื้อเพลิง Wood Pellets ไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากนักในภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งมีดังนี้  

  1. การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถผลิตพลังงานความร้อนได้เพียงพอต่อความต้องการในกระบวนการผลิต ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเดินเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กัน เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานความร้อนได้เพียงพอ
  2.  มีความซับซ้อนในการออกแบบระบบป้อนเชื้อเพลิง Wood Pellets เข้าสู่ระบบผลิตพลังงานความร้อนให้มีอัตราความเร็วในการลำเลียงที่เหมาะสม เพราะหากระบบป้อนเชื้อเพลิงดังกล่าวมีอัตราการลำเลียงเชื้อเพลิงเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการอุดตันในช่องไหลอากาศ5 ซึ่งอาจนำสู่อัคคีภัยได้ 

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงไฟฟ้าชีวมวลหันมาใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets แทนที่เชื้อเพลิงชีวมวล จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเชื้อเพลิงได้ถึง 0.8-2.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ หรือ 34%-53% ในกรณีที่ระยะเวลาขนส่งประมาณ 100 กิโลเมตร และราคาน้ำดีเชลอยู่ระหว่าง 35-35.99 บาท/ลิตร เนื่องจากเชื้อเพลิง Wood Pellets ใช้พื้นที่จัดเก็บน้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล 2-3 เท่าในน้ำหนักเท่ากัน โดยพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เมตร จะสามารถบรรจุเชื้อเพลิง Wood Pellets ได้ถึง 650-700 กิโลกรัม ขณะที่บรรจุเชื้อเพลิงชีวมวล อย่างไม้สับ และขี้เลื้อย ได้เพียง 200-300 กิโลกรัม จึงทำให้สามารถขนส่งเชื้อเพลิง Wood Pellets ได้มากกว่าในหนึ่งรอบรถบรรทุก ประกอบกับ โรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นผลจากคุณภาพเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่สูงกว่า โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets จำนวน 5,700-9,000 ตัน/เมกะวัตต์ ขณะที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจำนวน 8,400-19,000 ตัน/เมกะวัตต์ จึงทำให้ความถี่ในการขนส่งระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวล และแหล่งวัตถุดิบลดลงตามด้วย 

นอกจากนั้น เชื้อเพลิง Wood Pellets จัดเก็บรักษาง่าย และยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชีวมวล จึงอาจจะเหมาะกับการจัดเก็บเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงมวลหลัก เช่น ชานอ้อยที่เกิดปัญหาการขาดแคลนในช่วงธันวาคม-มีนาคม8 เนื่องจากเชื้อเพลิง Wood Pellets จะไม่ย่อยสลายทางชีวภาพในระหว่างการจัดเก็บ ขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีการย่อยสลายทางชีวภาพในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากประโยชน์ของเชื้อเพลิง Wood Pellets ต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กล่าวมาข้างต้น  การใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets แทนที่เชื้อเพลิงชีวมวล ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Wood Pellets จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.03-0.106 kg CO2/ หน่วย ขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลจะปล่อยก๊าซดังกล่าวสูงถึง 0.203 kg CO2/หน่วย เนื่องจากการใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงจะไม่เกิดควันขณะเผาไหม้ ขณะที่ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจะก่อให้เกิดควันในขณะเผาไหม้

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยหากใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมในสัดส่วน 10% จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 9%

อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าชีวมวล และถ่านหินจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หากใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Wood Pellets และ การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินสูงถึง 2.70-4.20 และ 1.40 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่า เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และถ่านหินนำเข้าที่อยู่ราว 1.20-2.40 และ 1.20 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ

หลังจากได้รู้ถึงข้อดี และข้อเสียของการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตพลังงานแล้ว ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงในอนาคตอันใกล้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของขั้นตอนการติดตั้ง และดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับเชื้อเพลิง Wood Pellets รวมทั้งการจัดหาเชื้อเพลิงดังกล่าว ซึ่งจะได้วิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป 

IV. หากโรงงานอุตสาหกรรมต้องการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ควรเริ่มต้นอย่างไร? 

โดยปกติ ผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้ง อาจจำเป็นต้องซื้อ ตัวอย่างเชื้อเพลิงไปทดสอบว่าสามารถใช้ได้จริงโดยไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต เราจึงสรุปสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัว ก่อนที่จะใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ควรเลือกปรึกษา รวมทั้งใช้บริการ และซื้อเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้ Wood Pellets จากผู้รับเหมาในการดำเนินการติดตั้ง หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ที่มีประสบการณ์ในการติดตั้ง หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งสามารถให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่ให้คำปรึกษาในการติดตั้งจนถึงบริการหลังการขาย เช่น บริการซ่อมบำรุง และอบรมวิธีการใช้งาน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถติดตั้ง และดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้เข้ากับกระบวนการผลิต 
  • หลังจากติดตั้ง หรือดัดแปลงหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets เสร็จแล้ว ควรซื้อตัวอย่างเชื้อเพลิง Wood Pellets ในจำนวนไม่มาก เพื่อนำไปทดสอบว่าเชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงโดยไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต หรือต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถซื้อเชื้อเพลิง Wood Pellets ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ซื้อตรงจากผู้ผลิต Wood Pellets โดยผู้ผลิตบางรายอาจเสนอเงื่อนไขให้ผู้ซื้อนำเอาเชื้อเพลิง Wood Pellets  ไปทดสอบในกระบวนการผลิต ก่อนที่จะมีการเจรจาสั่งซื้อ 2) ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยผู้ประกอบการอาจไม่จำเป็นต้องซื้อตัวอย่างเชื้อเพลิง Wood Pellets มาทดสอบในกระบวนการผลิต เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายมักซื้อตัวอย่างเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่จะขาย ไปทดสอบว่าเชื้อเพลิงดังกล่าวได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดหรือไม่ โดยรายละเอียดของผู้ผลิต และจัดจำหน่ายเชื้อเพลิง Wood Pellets ในรูปที่ 4 
  • ควรเจรจาซื้อเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลแข็งของไทย และมีราคาที่เหมาะสม โดยปกติ ราคาเชื้อเพลิง Wood Pellets จากเศษไม้ อยู่ประมาณ 3,000-4,000 บาท/ตัน และราคาเชื้อเพลิง Wood Pellets จากแกลบ อยู่ราว 2,900 บาท/ตัน โดยรายละเอียดของมาตรฐานของเชื้อเพลิง Wood Pellets อยู่ในรูปที่ 4
  • ควรฝึกอบรมวิธีการใช้งาน ตรวจสอบในเบื้องต้น และมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดไอน้ำให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานสามารถใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำได้อย่างปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานของภาครัฐ โดยรายเอียดของศูนย์ฝึกอบรมวิธีการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำ ซึ่งใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงอยู่ในรูปที่ 4 

Implication:

  • โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ต้องปรับมาใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในระยะข้างหน้า ควรมีการเตรียมพร้อมทั้งด้านเทคนิคและเงินลงทุน ผู้ประกอบการข้างต้น โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมควรปรึกษาผู้รับเหมาติดตั้ง หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets และผู้ผลิตเชื้อเพลิง Wood Pellets เพื่อเลือกเครื่องกำเนิดไอน้ำ และเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่เหมาะกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการนั้น โดยทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การไปปรึกษาหน่วยงานที่ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องกำเนิดไอน้ำ เช่น  สมาคมหม้อน้ำและภาชนะรับความดันไทย รวมถึงการเตรียมเงินลงทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องกำเนิดไอน้ำและระบบที่เกี่ยวข้องด้วย
  • ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets เพื่อให้ใช้อย่างแพร่หลายทั้งในกลุ่มโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) การกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล 2) ควรใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 3) ควรสนับสนุนให้มีการกำหนดราคาอ้างอิง และกลไกการซื้อขายของตลาดเชื้อเพลิง Wood Pellets

1) ภาครัฐควรกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลขนาดใหญ่ ต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียนในสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของเกาหลีใต้ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึง Wood Pellets ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 10% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 เป็น 20.5% ในปี 2568 โดยนโยบายดังกล่าวช่วยให้ภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมายที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ได้ง่ายขึ้น และช่วยหนุนความต้องการเชื้อเพลิง Wood Pellets ให้เพิ่มขึ้นตามด้วย สะท้อนได้จากความต้องการ Wood Pellets ของเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะเติบโตถึงเฉลี่ยปีละ 8.6% ในช่วงปี 2564-68 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของทั่วโลกที่อยู่ประมาณ 6.8%

spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

ข่าวล่าสุด

บริษัท ไม่ลองไม่รู้ จำกัด เลขที่ 108/240 หมู่ที่ 2 หมู่บ้านพฤกษาวิลล์56 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210

E-Mail : anchaliphon.k@gmail.com

T. 081-666-6822

จำนวนผู้เข้าชม : 984,074

©2020-2022 www.worldbusiness-th.com