Sunday, 19 May 2024 | 9:16 am
spot_img
Sunday, 19 May 2024 | 9:16 am
spot_img

เศรษฐกิจไทยในยามโลกแบ่งขั้ว (Decoupling)

KEY SUMMARY

EIC มองเศรษฐกิจโลกจะแบ่งขั้ว (Decoupling) มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ชะลอตัวลง

การเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่ามกลางประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันที่ยังยืดเยื้อ กอปรกับการวางนโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของจีนเป็นแผนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น Made in China 2025 และ Dual Circulation ส่งผลให้การแบ่งขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป  อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละประเทศเองก็ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเต็มรูปแบบเช่นกัน โดยในรายงาน National security strategy ปี 2022 ของสหรัฐฯ ระบุว่าจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จำนำไปสู่ภูมิรัฐศาสตร์โลกแบ่งขั้วตายตัว และจะเคารพการตัดสินใจของชาติต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเอง ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่า การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะถูกจำกัดแค่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากการกีดกันการค้าในวงกว้างจะส่งผลให้ทั้งสองประเทศสูญเสียตลาดสำคัญและกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ถึงแม้การค้าและการลงทุนโลกอาจไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยจากการแบ่งขั้วแต่จะมีจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนไปสู่ประเทศพันธมิตรหรือประเทศใกล้เคียงที่มีศักยภาพมากขึ้น

EIC คาดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) จะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับประโยชน์ผ่านการย้ายฐานการผลิต (Relocation)EIC คาดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ที่เร่งตัวจะเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน (FDI)เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น ผ่านความเป็นไปได้ในการกระจายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีน (Relocation) มายังภูมิภาคอาเซียนที่ยังคงบทบาทเป็นกลาง (Impartiality) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive: HDD) และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับสองในตลาดโลกรองจากจีน อีกทั้ง หากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันไม่ยกระดับความรุนแรง (เช่น จีนจำกัดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันแค่ในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่คว่ำบาตรจีนโดยตรง) เศรษฐกิจไทยจะได้รับโอกาสทางการค้าในระยะต่อไป

ผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าที่จีนและไต้หวันพึ่งพากันเองสูง และไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้าดังกล่าวทั้งในตลาดจีนและไต้หวัน เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องยนต์ ในภาพรวม EIC ประเมินการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยการเติบโตของ GDP ประเทศอาเซียนในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 0.1% ต่อปี ขณะที่ GDP ของไทยในระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 0.07% ต่อปี แต่หากในกรณีที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันยกระดับความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจไทยและอาเซียนอาจชะลอตัวจากการส่งออกและการลงทุนที่ลดลง

การวางแผนรับมือการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทยภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยควรให้ความสำคัญกับ (1) เร่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากประเทศที่เจาะจง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเกิดการย้ายฐานการผลิต ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวได้ทันต่อเทคโนโลยีโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อนำไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกในเทคโนโลยีขั้นสูง (2) เพิ่มความหลากหลายของแหล่งซัพพลายเออร์และผู้ซื้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงักจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากการกีดกันทางการค้า การโจมตีทางไซเบอร์ หรือเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศรวมถึงความต้องการของสินค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว (3) ปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป จากกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่ชาติมหาอำนาจพยายามกำหนดระเบียบระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศ และ (4) เตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายข้ามชาติ โดยเฉพาะด้าน Environmental, Social, and Governance (ESG) เนื่องจากการลงทุนด้าน ESG มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ

การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ถูกพูดถึงมากขึ้นและมีแนวโน้มเร่งตัว นับตั้งแต่การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2022 ซึ่งเป็นการเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ ในรอบ 25 ปี ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวันเพิ่มสูงขึ้น โดยถึงแม้ว่านางแนนซีจะได้เดินทางกลับสหรัฐฯ เป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ความตึงเครียดยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะในเวทีการเมืองโลก เช่น การแถลงการณ์ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่ารัสเซียยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและประณามการยั่วยุของสหรัฐฯ ในกรณีช่องแคบไต้หวันหลังการพูดคุยนอกรอบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในวันที่ 15-16 กันยายน 2022 การออกยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงาน National security strategy ปี 2022 ในเดือนกันยายน ซึ่งมองว่าจีนเป็นคู่แข่งการเป็นผู้นำโลกที่สำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงออกมาตรการห้ามการส่งออกชิปขั้นสูงไปจีนของสหรัฐฯ และห้ามให้บุคลากรสัญชาติสหรัฐฯ ช่วยเหลือจีนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2022 อีกทั้ง ล่าสุดสหรัฐฯ และไต้หวันจะจัดการเจรจาการค้า 2 ฝ่ายที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2022 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายในการบรรลุข้อตกลงในด้านต่าง ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งทางการจีนได้แถลงการณ์ต่อต้านการเจรจานี้อย่างชัดเจน

ในระยะถัดไป EIC มองว่า เศรษฐกิจโลกจะแตกย่อย (Fragmentation) มากขึ้นระหว่างขั้วสหรัฐฯ
และจีน ส่งผลให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ชะลอตัวลง โดยในรายงาน US National security strategy ปี 2022 สหรัฐฯ มองว่าภัยต่อความมั่นคงของประเทศมาจาก 1) การแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างชาติประชาธิปไตย (Democracy) และชาติอัตตาธิปไตย (Autocracy) โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีเจตนาและความสามารถสูงขึ้นต่อเนื่องในการเปลี่ยนระเบียบระหว่างประเทศ (International order) ไปในด้านที่ส่งผลลบต่อสหรัฐฯ และ 2) ความท้าทายข้ามชาติ (Transnational challenges) เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหาร และผู้ลี้ภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงร่วมกันต่อเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ

ดังนั้น ในการรับมือกับ 2 ภัยนี้ สหรัฐฯ มองว่ากระแสโลกาภิวัตน์ในบริบทเดิมที่มีความเสรีค่อนข้างมาก ไม่เหมาะสมต่อการรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงเพียงประสิทธิภาพและต้นทุนต่อธุรกิจ แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานและประเทศมากเท่าที่ควร ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องเน้นการพึ่งพาตนเองหรือประเทศพันธมิตรเป็นหลัก และกีดกันไม่ให้ประเทศที่เป็นภัยเอาเปรียบและแข่งขันกับสหรัฐฯ จึงนำไปสู่ การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 นโยบายหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ และการสร้างเครือข่ายชาติพันธมิตรเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ 

ทางฝั่งจีน การเข้ามารับตำแหน่งสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีแนวโน้มทำให้การแตกขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป จากนโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของจีนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Made in China 2025 และกลยุทธ์แบบผสมผสานให้มีการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual circulation) ที่ต้องมีความสมดุลของเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่เริ่มใช้อยู่แล้วจะยังคงเป็นแผนระยะยาวของจีน รวมถึงประเด็นความขัดแย้งกับไต้หวันที่ยืดเยื้อและมีทีท่าตึงเครียดขึ้นจะเป็นอีกประเด็นที่เร่งการแตกขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สีจิ้นผิงได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาและพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจีนจะเร่งการลงทุนใน Research & Development การสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยภายในประเทศ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบสิทธิบัตรสินทรัพย์ทางปัญญา เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา จีนพัฒนาอุตสาหกรรมได้ช้ากว่าเป้าหมาย ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจีนตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตชิปให้เพียงพอต่ออุปสงค์ภายในประเทศ 70% ในปี 2025 ตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 แต่ที่ผ่านมายังผลิตได้ช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทำให้การพึ่งพาตนเองของจีนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยิ่งช้าลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตชิป 5nm ซึ่งเป็นชิปขั้นสูงสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจีนยังไม่มีศักยภาพการผลิตชิปนี้เองภายในประเทศ เนื่องจากต้องพึ่งพาเครื่องจักรและโรงงานสหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตร

ล่าสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้มีการประชุมนอกรอบร่วมกันก่อนการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีข้อสรุปว่า การแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มที่จะยกระดับมากขึ้นผ่านการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในประเทศและการร่วมมือกับพันธมิตร สำหรับประเด็นข้อพิพาทไต้หวัน จีนระบุว่าเรื่องนี้เป็น First Red Line ที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่สหรัฐฯ ยังยืนยันในหลักการจีนเดียว (One China Policy) โดยทั้งสองฝ่ายจะให้ความสำคัญต่อการรักษาสันติภาพและไม่ต้องการให้สถานการณ์ยกระดับไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเด็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศจะเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างกันและให้ความร่วมมือในประเด็นสำคัญของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาค และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้จีนมองว่ามาตรการกีดกันทางการค้าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และการแข่งขันไม่จำเป็นต้องเป็น Zero Sum Game หรือไม่จำเป็นว่าฝ่ายหนึ่งได้เปรียบฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ แต่เป็นไปได้ว่าการแข่งขันจะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้

ผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันต่อเศรษฐกิจไทย

ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้ในหลายช่องทาง ได้แก่ 

(1) การค้าระหว่างประเทศที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าและส่งออกกับไต้หวัน รวมถึงกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่งและโลจิสติกส์จะทำได้ลำบากขึ้น การค้าของไทยมีความเชื่อมโยงสูงกับจีนและไต้หวัน โดยจีนเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 2 ของไทย (12% ของมูลค่าส่งออกสินค้า) และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 1 (23% ของมูลค่านำเข้าสินค้า) ในขณะที่ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 17 (1.6% ของมูลค่าส่งออกสินค้า) และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 6 ของไทย (3.9% ของมูลค่านำเข้าสินค้า) นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายชนิดจากจีนและไต้หวัน (รวมคิดเป็น 24.5% ในปี 2021)  อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกไทยบางกลุ่มจะได้รับอานิสงส์ หากการค้าระหว่างจีนและไต้หวันปรับลดลงหรือหยุดชะงัก จนจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นทดแทน (Product substitution) โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ค่อนข้างชัดเจน เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องยนต์ เนื่องจากทั้งจีนและไต้หวันพึ่งพาสินค้ากลุ่มนี้ระหว่างกันค่อนข้างสูง และไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้าดังกล่าวทั้งในจีนและไต้หวัน

(2) การลงทุนระหว่างประเทศที่จะแบ่งขั้วมากขึ้น เนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศ (Reshoring) หรือในภูมิภาคใกล้เคียง (Regionalization) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชะงักของอุปทาน (Supply-chain disruption) ในเวลาที่มีความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) สูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่าน ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมที่ยังคงบทบาทเป็นกลาง (Impartiality) จะยังได้รับประโยชน์จากการย้ายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีนของธุรกิจนานาชาติต่าง ๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่จีนและไต้หวันลดการค้าระหว่างกัน ไทยอาจได้รับประโยชน์บางส่วนในอนาคต ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive: HDD) และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับสองในตลาดโลกรองจากจีน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน (FDI) เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีโอกาสได้รับโอกาสในการทดแทนสินค้าส่งออกของจีนในไต้หวัน ซึ่งอาจนำไปสู่การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเพิ่มเติมในไทย

(3) การเดินทางระหว่างประเทศที่ยังได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด โดยแม้เส้นทางบินระหว่างประเทศหลายเส้นทางจะถูกยกเลิกชั่วคราวในช่วงที่มีการซ้อมรบของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ปัจจุบันก็กลับมาให้บริการตามปกติแล้ว ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีโอกาสส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีน (ภายหลังที่จีนทยอยผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid และเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ) มีแนวโน้มเลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคอื่นแทนการเดินทางไปยังประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น โดยประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยถือเป็นหนึ่งจุดหมายการเดินทางสำคัญที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวันตึงเครียดขึ้นและมีการจำกัดหรือปิดเส้นทางการเดินทางระหว่างประเทศขึ้นอีก ก็มีแนวโน้มส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและไต้หวันเดินทางระหว่างประเทศลดลง ทั้งนี้จากข้อมูลก่อนวิกฤตโควิดในปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนและไต้หวันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าไทยมากถึง 781,674 คน คิดเป็น 2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด สร้างรายได้ 33,535.5 ล้านบาท ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยสูงสุดราว 11 ล้านคน คิดเป็น 27.9% สร้างรายได้ 531,576.7 ล้านบาท 

รูปที่ 1 : เศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ จีน และไต้หวันในระดับสูง

การค้า

การลงทุนและท่องเที่ยว

หมายเหตุ : *เป็นยอดประมาณการ เทียบกับจำนวนคนไทยในต่างแดนทั้งหมดราว 1.14 ล้านคน

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักข่าวต่าง ๆ 

รูปที่ 2 : ไทยอาจได้รับอานิสงส์ในบางสินค้าหากจีนและไต้หวันลดการค้าระหว่างกัน

หมายเหตุ : *พิจารณาเฉพาะสินค้าที่ไต้หวันมีมูลค่าการนำเข้าจากจีนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, พิจารณาเฉพาะสินค้าที่จีนมีมูลค่าการนำเข้าจากไต้หวันมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap

รูปที่ 3 : ไต้หวันและจีนเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลกและไทย ไทยพึ่งพา
เซมิคอนดักเตอร์จากทั้งสองประเทศในสัดส่วนสูงขึ้น

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์, Bloomberg, Trademap. TrendForce, Nikkei Asia, J.P Morgan และ SCMP 

ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันผ่าน 3 ช่องทางที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในที่สุด โดยห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญที่สุดในโลก อีกทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่และเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าสำคัญหลากหลายชนิด อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไอที รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ ทั้งนี้ EIC แบ่งผลกระทบของความรุนแรงสู่เศรษกิจไทยออกเป็น 3 กรณี

ในกรณีแรก เหตุการณ์กลับเข้าสู่ Status Quo ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงที่สุด การแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ
และจีน (Decopling) เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี โดยจีนมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์เฉพาะในสินค้าที่ไม่สำคัญมากต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและทดแทนได้ง่าย (สินค้าเกษตร/ประมง) ไม่คว่ำบาตรสินค้าสำคัญ (เซมิคอนดักเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์) มีการซ้อมรบเพียงชั่วคราวและสถานการณ์ความรุนแรงไม่ยกระดับมากขึ้น ทำให้ความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีอยู่อย่างจำกัดและขยายตัวได้ที่ 3.0% และ 3.8% ในปี 2022 ตามลำดับ EIC มองว่าในกรณี Status Quo ในระยะสั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคมีค่อนข้างจำกัด แต่ในระยะยาวการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกจาก Trade substitution effect และ Investment diversion จากการศึกษาของ EIC พบว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก โดยการเติบโตของ GDP ของประเทศในอาเซียนในระยะยาวจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.1% ต่อปี ขณะที่ GDP ในระยะยาวของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.07% ต่อปี

รูปที่ 4 : ผลกระทบระยะยาวต่อ GDP ของประเทศในอาเซียนใน Status Quo

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูล GTAP

ในกรณีที่สอง จีนใช้มาตรการปิดล้อมน่านน้ำไต้หวันและควบคุมการเข้าออกสินค้า แม้ยังไม่เกิดสงครามเต็มรูปแบบ แต่ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้นมาก โดยจีนปิดล้อมน่านน้ำไต้หวันและควบคุมการเข้าออกของเรือสินค้า ทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น ฝั่งสหรัฐฯ และพันธมิตรตอบโต้โดยใช้มาตรการคว่ำบาตรจีนและส่งเรือรบเข้ากดดัน ในกรณีนี้ห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบรุนแรง เศรษฐกิจและการค้าโลกจะขยายตัวได้เพียง 2.4% และ 0.8% ตามลำดับ จากการศึกษาโดยใช้ Computable General Equilibrium Model พบว่า ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวจากกรณีฐาน 0.8% ต่อปีในช่วงปี 2022-2023 (รูปที่ 5) โดยกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวลดลง 0.6% 

รูปที่ 5 : ผลกระทบต่อ GDP ของประเทศในอาเซียนในกรณีเลวร้าย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูล GTAP

กรณีที่สาม จีนใช้กำลังทหารโจมตีไต้หวันและมีการเผชิญหน้ากันเป็นระยะ ในกรณีนี้การคว่ำบาตรของทั้งสองฝั่งทำให้การแบ่งขั้ว (Decoupling) เกิดขึ้นอย่างชัดเจน จีนตัดความสัมพันธ์และระงับการส่งออกนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
และพันธมิตร การขนส่งสินค้าในภูมิภาคและห่วงโซ่อุปทานจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% ในขณะที่การค้าโลกอาจหดตัวมากถึง -6.4% ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวจากกรณีฐาน -1.6% ต่อปีในช่วงปี 2022-23 (รูปที่ 5) โดยกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวลดลง -1.4% 

ภาครัฐควรวางแผนรับมือการแบ่งขั้วเศรษฐกิจและปรับตัวต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป

การแบ่งขั้วจะส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างรวดเร็วทำให้ภาครัฐของไทยจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ และความไม่แน่นที่อาจเกิดขึ้น เริ่มต้นจาก 

(1) เร่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยถึงแม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากแนวโน้มการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน แต่ไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ตลาดใหม่ ๆ ที่ใกล้และเป็นมิตรต่อสหรัฐฯ เช่น กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และการอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้น ไทยควรออกมาตรการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เจาะจงโดยเฉพาะ
ในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเกิดการย้ายถิ่นการผลิต ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวได้ทันต่อเทคโนโลยีโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อนำไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกในเทคโนโลยีขั้นสูง 

(2) เพิ่มความหลากหลายของแหล่งซัพพลายเออร์และผู้ซื้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงักจาก
ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการกีดกันทางการค้า การโจมตีทางไซเบอร์ หรือเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศ ภาครัฐและบริษัทไทยอาจพิจารณาจัดหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อลดการกระจุกตัว ขณะเดียวกัน บริษัทไทยอาจพิจารณาใช้ระบบการผลิต Just In Case ที่เน้นการผลิตและตุนสินค้าคงคลังให้เพียงพอต่อสถานการณ์การค้า อีกทั้ง ความต้องการของสินค้าจากผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป 

(3) ปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกฎระเบียบใหม่เพิ่มมากขึ้นจากการที่ชาติมหาอำนาจพยายามกำหนดระเบียบระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี
และการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับใหม่ได้อย่างทันท่วงที จะเกิดภาระต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น หรือในกรณีรุนแรง อาจสูญเสียตลาดสำคัญไปได้ 

(4) เตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายข้ามชาติ โดยเฉพาะด้าน ESG เนื่องจากการลงทุนด้าน ESG มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ หากไทยไม่ปรับนโยบายของประเทศให้ตอบสนองต่อการลงทุน ESG อาจส่งผลให้ไทยไม่ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากเท่าที่ควร เนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจเลือกประเทศอื่น ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า หรือประเทศที่มีสิทธิแรงงานดีกว่า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละประเทศเองก็ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งต็มรูปแบบเช่นกัน โดยในรายงาน National security strategy ปี 2022 ของสหรัฐฯ ระบุว่าต้องการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกแตกเป็นขั้วที่ตายตัวและจะเคารพการตัดสินใจของชาติต่าง ๆ
ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตนเอง ทำให้การค้าและการลงทุนโลกอาจไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยจากการแบ่งขั้วแต่จะมีจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนไป ซึ่งไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อให้ได้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางนั้นและได้รับประโยชน์สูงสุด จากโลกที่กำลังแตก…(ขั้วเศรษฐกิจ)

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/Decoupling-151122

Disclaimer: The information contained in this report has been obtained from sources believed to be reliable. However, neither we nor any of our respective affiliates, employees or representatives make any representation or warranty, express or implied, as to the accuracy or completeness of any of the information contained in this report, and we and our respective affiliates, employees or representatives expressly disclaim any and all liability relating to or resulting from the use of this report or such information by the recipient or other persons in whatever manner. Any opinions presented herein represent our subjective views and our current estimates and judgments based on various assumptions that may be subject to change without notice, and may not prove to be correct. This report is for the recipient’s information only. It does not represent or constitute any advice, offer, recommendation, or solicitation by us and should not be relied upon as such. We, or any of our associates, may also have an interest in the companies mentioned herein.

ผู้เขียนบทวิเคราะห์

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)             

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

รชฏ เลียงจันทร์ (rachot.leingchan@scb.co.th)

นักวิเคราะห์อาวุโส

ปัณณ์ พัฒนศิริ (punn.pattanasiri@scb.co.th)

นักวิเคราะห์

วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th)

นักวิเคราะห์

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ

รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) 

และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน

วชิรวัฒน์ บานชื่น

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ 

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

จงรัก ก้องกำชัย

นักวิเคราะห์

ณิชนันท์ โลกวิทูล

นักวิเคราะห์

ปัณณ์ พัฒนศิริ

นักวิเคราะห์

วิชาญ กุลาตี

นักวิเคราะห์

ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา

นักวิเคราะห์

spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

ข่าวล่าสุด

บริษัท ไม่ลองไม่รู้ จำกัด เลขที่ 108/240 หมู่ที่ 2 หมู่บ้านพฤกษาวิลล์56 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210

E-Mail : anchaliphon.k@gmail.com

T. 081-666-6822

จำนวนผู้เข้าชม : 991,835

©2020-2022 www.worldbusiness-th.com