DITP ชี้สินค้าสู้โควิด-19 “ชุดคลุม ชุดผ่าตัด ถุงมือ”มีโอกาสส่งออกสหรัฐอเมริกา หลังมีปัญหาขาดแคลน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ประกาศ 20 รายชื่อสินค้าที่เสี่ยงขาดแคลน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชี้เป็นโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ทั้งชุดคลุม ชุดผ่าตัด ถุงมือ แต่ก่อนส่งออกต้องศึกษากฎระเบียบการนำเข้า เงื่อนไขการจำหน่าย และมาตรฐานสินค้าให้ชัดเจน
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลีส สหรัฐอเมริกา ถึงความต้องการสินค้าเครื่องมือทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้จัดทำรายชื่อสินค้าที่ขาดแคลนเป็นครั้งแรก และได้ประกาศต่อสาธารณชนให้รับทราบ เพื่อที่จะได้วางแผนการทำงานและเตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า โดยเบื้องต้นมีสินค้าจำนวน 20 รายการ ที่เสี่ยงต่อการขาดแคลน คือ ชุดผ่าตัด (surgical gowns), ถุงมือ (gloves) , หน้ากาก (masks) , เครื่องช่วยหายใจ (certain ventilators) และสินค้าใช้ในการทดสอบ (testing) เช่น sterile swabs สำหรับใช้ในการเก็บตัวอย่าง เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการขนส่งตัวอย่าง และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับรายชื่อสินค้าขาดแคลน 20 รายการ (Product code) ตามประกาศของ USFDA ได้แก่ 1.Examination gown (FME) , 2.Surgical apparel (FXX) , 3.Surgical gown (FYA) , 4.Latex, non-powdered patient examination glove (LYY) , 5.Vinyl patient examination glove (LYZ) 6.Polymer, non-powdered patient examination glove (LZA) , 7.Specialty, non-powdered patient examination glove (LZC) , 8.Surgical respirator (MSH) , 9.Non-surgical isolation gown (OEA) , 10.Clinical sample concentrator (JJH) , 11.Transport culture medium (JSM) , 12.Sterile swabs (KXG) , 13.Microbiological specimen collection and transport device (LIO) , 14.Instrumentation for clinical multiplex test systems (NSU) , 15.Real time nucleic acid amplification system (OOI) , 16.General purpose reagents for in vitro diagnostic tests (PPM) , 17.Microbial nucleic acid storage and stabilization device (QBD) , 18.Non-continuous ventilator (BZD) , 19.Continuous ventilator, facility use (CBK) และ 20.Continuous ventilator, home use (NOU)
ทั้งนี้ สินค้ารายการที่ 1 2 3 4 5 6 7 9 และ 12 เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาได้ และยังมีโอกาสที่จะส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกการผลิต เช่น Infusion Pump (FRN) และ infusion Pump, Patient Controlled Alalgesic (MEA)
นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลีส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการประกาศรายการสินค้าทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ในการวางแผนการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลายรายการที่ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพหรือมีโอกาสสูง อาทิ ชุดคลุม (Isolation Gown) , ชุดผ่าตัด (Surgical Gown) , ถุงมือตรวจผู้ป่วย (Vinyl Patient Examination Glove) โดยจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎระเบียบในการนำเข้า การจำหน่าย ที่โรงงานผลิตจะต้องจดทะเบียนกับ USFDA สินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก FDA ก่อนการวางจำหน่าย รวมถึงมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 FDA ได้ผ่อนผันกฎระเบียบหลายรายการ เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าสู่ตลาดได้โดยเร็ว โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fda.gov/medicaldevices
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169