ธนาคารกรุงไทย เผยผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2566 จำนวน 10,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% และช่วง 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 30,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้จากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน”
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น และในช่วงไฮซีซันยังได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายฟรีวีซ่าของภาครัฐ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 2.5 เท่าตัว ซึ่งส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน ขณะที่ภาคการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการลงทุนภาครัฐในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมอาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเผชิญกับความท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพิ่มความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน และผลักดันให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ขณะที่ในประเทศมีความท้าทายจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบผลผลิตและรายได้ในภาคเกษตร และภาคครัวเรือนที่ยังมีภาระหนี้สูง ธนาคารกรุงไทยจึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้สามารถปรับตัวรองรับกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 10,282 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องร้อยละ 23.1 ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งสินเชื่อรายย่อยและ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่
นอกจากนี้ สินเชื่อภาครัฐเติบโตร้อยละ 5.5 จากสิ้นปีที่ผ่านมา เฉพาะไตรมาส 3 เติบโตร้อยละ 7.7 จากไตรมาสที่ผ่านมา ช่วยรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Return) สนับสนุนให้พอร์ตสินเชื่อมีความแข็งแกร่งขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้สินเชื่อรวมเติบโต 1.4% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษจากลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 43.0 ลดลง จากร้อยละ 45.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และยังคงรักษา Coverage Ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 180.4 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) ร้อยละ 3.10 ลดลงจากสิ้นปี 2565
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวได้ดี ร้อยละ 8.9 พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 43.0
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 30,505 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องร้อยละ 21.1 จากการเติบโตของสินเชื่อตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งสินเชื่อรายย่อยและ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และการขยาย สินเชื่อภาครัฐเพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Return) ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้สินเชื่อไม่รวมภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษจากลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 40.4 ลดลงจากร้อยละ 43.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ณ 30 กันยายน 2566 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.28 และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 20.47 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย บนช่องทางดิจิทัลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เป๋าตัง และถุงเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีศักยภาพ พร้อมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ดำเนินนโยบายด้านสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวัน ตามวิสัยทัศน์ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”
ทีม Marketing Strategy
19 ตุลาคม 2566