องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผย การก่อสร้างโรงงานผลิตยา เฟส 2 ที่ คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี คืบหน้าแล้ว 30% เป็นไปตามแผน ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมตรวจสอบ ตรวจรับงาน และให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง คาดเปิดการผลิตได้ในปี 2565 เป็นโรงงานผลิต ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน มาตรฐานคุณภาพและเทคโนโลยีระดับโลก ช่วยคนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
ดร.ภญ มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 บนพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ว่า โครงการดังกล่าวใช้เวลาในการก่อสร้างพร้อมติดตั้งระบบงานและเครื่องจักรเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือประมาณ 1,080 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึง มิถุนายน 2565 โดยขณะนี้ ดำเนินการคืบหน้าไปแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เร็วกว่าแผนงาน 30 วัน โดยได้ตอกเสาเข็มเสร็จแล้วทุกอาคาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการงานก่อสร้างฐานราก เช่น คาน พื้นชั้นหนึ่ง งานติดตั้งท่อระบบล่อฟ้า จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างชั้น 2 และชั้นอื่นต่อไป โดยได้มีการดำเนินคู่ขนานกับการจัดทำข้อกำหนดเครื่องจักรและคัดเลือกเครื่องจักร และเทคโนโลยี ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการผลิตยา อาทิ เครื่องจักรผลิตยาเม็ด ยาน้ำ ยาครีม และยาฉีด ตลอดจนรายละเอียดในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP-PIC/S คาดว่าจะสามารถเปิดทำการผลิตได้ภายในปี 2565 จะเป็นโรงงานผลิตที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน และช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงยาได้มากขึ้น
ในการดำเนินการก่อสร้างโรงงานนี้ องค์การได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินงานต่างๆของโครงการ และเป็นไปตามนโยบายองค์กรคุณธรรมขององค์การฯ โดยทั้งนี้จะมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย ) เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและให้ข้อแนะนำในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆอย่างต่อเนื่อง อาทิ การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับงานในแต่ละงวด การจ่ายเงิน การปรับเปลี่ยนรายละเอียดในระหว่างการดำเนินงาน นอกจากนั้น องค์การฯและบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้ลงพื้นที่ชุมชนรอบข้าง สื่อสารการดำเนินโครงการและดูแลคุณภาพชีวิตและผลกระทบต่างๆ ซึ่งพบว่ายังไม่มีการร้องเรียนผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากชุมชนรอบพื้นที่การก่อสร้างฯ
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า โรงงานแห่งนี้สร้างเพื่อ รองรับกำลังการผลิตยาที่ย้ายฐานการผลิตมาจากโรงงานที่ ถนนพระรามที่ 6 เพื่อผลิตยาจำเป็นต่างๆ รวมทั้งผลิตยารายการใหม่ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และด้วยเป็นโรงงานที่มีการนำเทคโนโลยีที่การผลิตและควบคุมคุณภาพที่ทันสมัยระดับโลก ทำให้มีศักยภาพสูง ทั้งในแง่ปริมาณยาที่ผลิตที่สามารถผลิตได้ในจำนวนมากๆ กับ มาตรฐานคุณภาพ GMP PIC/S และ มาตรฐานระดับนานาชาติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โรงงานแห่งนี้จะทำการผลิตยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม/ขี้ผึ้ง และยาเม็ด ในกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีปริมาณการใช้สูง ยาจำเป็น ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาช่วยชีวิต ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน เป็นต้น เป็นโรงงาน Smart Industry ที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีระดับสากล นำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยีAI (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Technology) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีการเชื่อมโยงเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ตกับทุกสิ่ง (Internet of Things : IoT ) เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ( Building Automation System ) เข้ามาใช้ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รวมถีงการจัดเก็บสินค้าใช้ระบบคลังอัตโนมัติ ASRS (Automated storage and retrieval system)
——————————————–ขอขอบคุณ/องค์การเภสัชกรรม/02 644 8856/8 มิถุนายน 2563