SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งทุน ช่วยเสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน ข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 ผ่าน 3 โครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเพียง 2%ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เริ่มเปิดแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ SME D Bank จึงดำเนินนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประกอบด้วย 3 โครงการสินเชื่อ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2%ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME 2) โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME และ 3) โครงการสินเชื่อสร้างโอกาส เสริมสภาพคล่อง SME โดยมอบหมายให้ SME D Bank ทำหน้าที่หน่วยร่วมดำเนินการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของกองทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับเงินทุน นำไปใช้เสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน ลงทุน ขยาย ปรับปรุง เริ่มต้นกิจการ สามารถดำเนินธุรกิจให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยดี
สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญของ 3 โครงการสินเชื่อดังกล่าว ประกอบด้วย 1) โครงการสินเชื่อ เพื่อฟื้นฟู SME วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน เพื่อให้นำไปปรับปรุง ลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือฟื้นฟูกิจการในปัจจุบัน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ภายใต้โครงการ 1.สินเชื่อพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2.โครงการฟื้นฟูฯ สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก และ 3.โครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน
2) โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน เพื่อให้นำไปปรับปรุง หรือลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือฟื้นฟูกิจการ ทั้งธุรกิจปัจจุบัน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิต ให้บริการ ค้าปลีกค้าส่ง หรือผู้ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่ดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1. เกษตรอุตสาหกรรมหรืออาหารแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 2. อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานชีวมวล 3. อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือบริการทางการแพทย์ 4. กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ และ 5. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นยานยนต์ไฟฟ้า
และ 3) โครงการสินเชื่อ สร้างโอกาส เสริมสภาพคล่อง SME วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน นำไปใช้ปรับปรุง เสริมสภาพคล่อง หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในธุรกิจ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิต ให้บริการ ค้าปลีกหรือค้าส่งใน 8 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2. กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป 3. กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น 4. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 5. กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 6. กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก 7. กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ 8. กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
สำหรับมาตรการดังกล่าวจะสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนประมาณ 500 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 10,000 ล้านบาท สามารถรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 3,000 ราย โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ 3 โครงการสินเชื่อดังกล่าว สามารถแจ้งความประสงค์ยื่นกู้ได้สำนักงานกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือผ่าน www.smebank.co.th<http://www.smebank.co.th> และ www.thaismefund.com<http://www.thaismefund.com> ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2565 ถึง 31 พฤษภาคม 2565 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อจะหมดก่อน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โทร.0-2202-3879 และ Call Center ของ SME D Bank โทร.1357