กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เผยผลประกอบการของปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 33,794 ล้านบาท ด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและครัวเรือนผ่านมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนภาคธุรกิจสู่การฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 อย่างยั่งยืน
กรุงศรียังคงรักษาระดับการตั้งเงินสำรองตามหลักเกณฑ์รอบคอบระมัดระวังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดที่เคยบันทึกที่ 184.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับต่ำที่ 2.20% อนึ่ง สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 6.6% และ 3.9% ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจ ขณะที่ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนกลับมาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2564:
• กำไรสุทธิ จำนวน 33,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 46.7% หรือจำนวน 10,754 ล้านบาท จากปี 2563 มีปัจจัยหลักคือกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในไตรมาสที่ 2/2564 หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติในปี 2564 อยู่ที่จำนวน 25,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% หรือจำนวน 2,569 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า
• เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 57,441 ล้านบาท จากเดือนธันวาคม 2563 สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขยายตัว 6.6% และ 3.9% ตามลำดับ
• เงินรับฝาก ลดลง 3.0% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2563 สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการสภาพคล่องเชิงรุก ในการลดสัดส่วนเงินรับฝากประจำ และชดเชยด้วยเงินรับฝากออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จากการออกมาตรการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 3.24% จาก 3.47% ในปี 2563
• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 12,243 ล้านบาท หรือ 37.5% จากปี 2563 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นเงินติดล้อ
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงศรียังคงบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติอยู่ที่ 43.2% ในปี 2564
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.20% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 เทียบกับ 2.00% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 กรุงศรียังคงรักษาระดับการตั้งเงินสำรองอย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมที่ระดับ 167 เบสิสพอยท์ (Credit Cost) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น • อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกที่ 184.2% จาก 175.1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563
• อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 18.53% เพิ่มขึ้นจาก 17.92%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการดำเนินงานในสถานการณ์วิกฤต กรุงศรีในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบยังคงมีความมุ่งมั่นในพันธกิจการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายสองประการในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการ/โครงการช่วยเหลือลูกค้าในระยะสั้น พร้อมอำนวยสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในระยะยาว”
“การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลายระลอกในระหว่างปีที่ผ่านมา และมาตรการควบคุมโรคที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจชะลอตัวลง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดความล่าช้า โดยคาดว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.2% และจะขยายตัว 3.7% ในปี 2565”
“กรุงศรีในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบของประเทศ จะยังคงทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าโดยเฉพาะด้านสภาพคล่องต่อภาคธุรกิจ SME และภาคครัวเรือน รวมถึง การอำนวยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน”
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.89 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.78 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.79 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.53% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.56%